กับดักตัวเลข “ค่าเฉลี่ย” ข้อมูลที่หลอกให้เราเข้าใจผิด

ค่าเฉลี่ย
สมมติว่าชนชั้นกลางกรุงเทพ 50 คนมีทรัพย์สินคนละ 10 ล้านบาท ถ้าเอา Jeff Bezos ที่มีทรัพย์สินทั้งหมดราว 5.6 ล้านล้านบาท เข้ามาคำนวณเพิ่มเป็นคนที่ 51…เราจะพบว่า “ค่าเฉลี่ย” ที่ได้ คือแต่ละคนมีทรัพย์สินเฉลี่ยคนละ 1 แสนล้านบาท!! ค่าเฉลี่ยที่ได้…แทบไม่มีความหมายในทันที

และนี่คืออีกหนึ่งกับดักตัวเลข “ค่าเฉลี่ย” ที่ถูกนำไปใช้ผิดๆ จนใครหลายคนเข้าใจผิดมานักต่อนักแล้ว

กับดักตัวเลข “ค่าเฉลี่ย”

สิ่งที่น่ากังวลคือ ตัวเลขค่าเฉลี่ยสามารถ “หลอก” ข้อมูลที่เป็นจริงทั้งหมดได้ โดยไม่ได้มีการมั่วสมมติขึ้นมาเอง และ อาจไม่ผิดกฎหมายด้วยซ้ำ (แต่ผิดจรรยาบรรณ)

สมองคนเราไม่ได้ถูกออกแบบมาให้คิด “คำนวณ” สำหรับคนทั่วไป เป็นการยากที่จะพิสูจน์สืบหาข้อเท็จจริงของตัวเลขที่เห็นตรงหน้า ค่าเฉลี่ยแบบผิวเผินจึงประสบความสำเร็จในการหลอกคนมานักต่อนักแล้วนั่นเอง

ลองดูตัวอย่างสุดโต่งนี้ก็ได้ ว่าค่าเฉลี่ยที่ตรงกันกลับให้ผลลัพธ์ที่ต่างกันสิ้นเชิง

ถ้าคุณดื่มไวน์ “ทุกคืนๆ ละ 1 แก้ว” คงไม่มีปัญหาต่อสุขภาพ (อาจรู้สึกดีด้วยซ้ำ) แต่ถ้าทั้งเดือนคุณไม่ได้ดื่มเลย และมาดื่มเอาวันสุดท้ายของเดือน “30 แก้วรวดเดียว” คุณจะถูกหามส่งโรงพยาบาลก่อนดื่มถึงแก้วสุดท้ายแน่ๆ…แม้ว่า “ค่าเฉลี่ย” ทั้งเดือนจะเท่ากับการที่คุณดื่มวันละ 1 แก้วเป๊ะๆ!!

ในการทำงาน สมมติว่า Performance ในอดีตอยู่ที่ 50% และ Performance ปัจจุบันอยู่ที่ 70% พอหาค่าเฉลี่ยกลับออกมาอยู่ที่ 65% และค่าเฉลี่ย Performance 65% มักถูกใช้เป็นมาตรฐานต่อไปจากนี้ 

ถ้า Performance ครั้งหน้าได้ 68% เราอาจเข้าใจผิดว่าพัฒนาขึ้น (สูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ 65%) ทั้งที่ไม่จริงเลยเพราะลดลงจาก Performance 70% ที่เคยทำได้ต่างหาก!!

.

.

นอกจากนี้ ค่าเฉลี่ยมักเพิกเฉยต่อการ “กระจายตัว” (Distribution) ทั้งของรายได้ / ส่วนสูง / น้ำหนัก / ความยาว / ประชากร หรือ “ทุกสิ่งทุกอย่าง” ก็ว่าได้ 

จำวิชาสถิติสมัยเรียนได้ไหม ค่าเฉลี่ยจะใช้ได้ผลกับการแจกแจงกระจายตัวแบบปกติ (Normal Distribution) เมื่อวาดกราฟจะเป็นรูป “ระฆังคว่ำ” อันสวยงาม 

Image Cr. bit.ly/2NUSCZV

แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ โดยเฉพาะยุคปัจจุบัน การกระจายตัวมักเกิดแบบเทไปข้างใดข้างหนึ่ง “ฝั่งนึงเยอะไปเลย-อีกฝั่งนึงก็น้อยไปเลย” จึงทำให้ค่าเฉลี่ยที่ได้แทบไม่มีความหมาย 

ตัวอย่างหนึ่งที่ชัดเจนคือ “จำนวนประชากรในเมือง”

  • มีอยู่ 1 เมืองที่มีประชากร > 30 ล้านคน (โตเกียว)
  • มีอยู่ 11 เมืองที่มีประชากร 20-30 ล้านคน 
  • มีอยู่ 15 เมืองที่มีประชากร 10-20 ล้านคน 
  • มีอยู่ 48 เมืองที่มีประชากร 5-10 ล้านคน 
  • มีอยู่กว่า 1,000 เมืองที่มีประชากร 1-5 ล้านคน

เห็นไหมว่า เมืองเพียงหยิบมือกลับเกทับครอบงำการกระจายตัว ซึ่งทำให้ “ค่าเฉลี่ย” แทบไร้ความหมายในการนำไปใช้งาน

ตัวอย่างค่าเฉลี่ยที่ชวนให้โดนหลอก 

อย่างแรกต้องทำความเข้าใจก่อนว่า “ค่าตัวเลข” โดยทั่วไปมีอยู่ด้วยกัน 3 แบบ

  • ค่าเฉลี่ยเลขคณิต (Mean) ค่าบวกกัน หารด้วย จำนวน (พบเจอได้บ่อยสุด)
  • ค่ามัธยฐาน (Median) ค่าที่อยู่ “กึ่งกลาง”
  • ค่าฐานนิยม (Mode) ค่าที่ปรากฎบ่อยที่สุด

ผู้บริหารองค์กรออกประกาศว่า รายได้เฉลี่ยของพนักงานบริษัทนี้ “สูงลิบ” ที่ 80,000 บาท (สมมติ) โดยปกติค่าเฉลี่ยที่พูดกันมักคือ ค่าเลขคณิต (Mean) ที่รวมรายได้สูงลิบของเหล่าผู้บริหารและรายได้ค่าแรงขั้นต่ำอันน้อยนิดของคนงาน ซึ่งไม่ได้สะท้อนสถานการณ์จริงแต่อย่างใด 

จะดีกว่ามากถ้าเป็นค่าฐานนิยม (Mode) ตัวเลขที่ปรากฎบ่อยที่สุด…หรือก็คือรายได้เฉลี่ยของพนักงาน ‘ส่วนใหญ่’ ในบริษัทนี้ไปเลยนั่นเอง

.

.

“พื้นที่สีเขียว” เฉลี่ยต่อในกรุงเทพมหานคร อยู่ที่ 6.9 ตร.ม./คน แม้จะน้อยจนน่าตกใจแล้ว (มาตรฐานโลกอยู่ที่ 9 ตร.ม./คน) แต่ถ้าถามคนกรุงเทพ มักรู้สึกว่าตัวเลขจริงมันน่าจะ ‘น้อยกว่า’ นี้เสียอีก 

ที่เป็นเช่นนี้เพราะ ตัวเลขนี้กลับรวมบรรดา “เกาะกลางถนน” พุ่มไม้หย่อมๆ (อะไรก็ตามที่ ‘เขียวๆ’) ทั่วเมืองอยู่ในค่าเฉลี่ยด้วย!! 

ซึ่งในความเป็นจริง พื้นที่สีเขียวที่คนเมืองต้องการอาจหมายถึง “สวนสาธารณะ” หรือพื้นที่ที่เข้าใช้งาน “ทำกิจกรรม” ได้จริงๆ (ไม่ใช่แค่ ‘เห็น’ พุ่มไม้ตามเกาะกลางถนน)

นอกจากนี้ ค่าเฉลี่ยที่ได้ยังรวมบางเขตซึ่งเป็นที่ตั้งของสวนสาธารณะขนาดใหญ่ เช่น สวนหลวง ร.9 / สวนจตุจักร / สวนลุมพินี

หากเจาะลึกข้อมูลลงไป เช่น เขตวัฒนา มีพื้นที่สีเขียวเฉลี่ยเพียง 1.53 ตร.ม./คน เท่านั้น

เวลานายหน้าขายอสังหาริมทรัพย์บอกคุณว่า“รายได้เฉลี่ยของคนละแวกนี้อยู่ที่ 500,000 บาท/เดือน” จึงมั่นใจในความปลอดภัยได้ว่าเค้าคงไม่มีโจรขโมยเข้าบ้าน แถมคุณยังรายล้อมด้วยกลุ่มคนมีอันจะกินซึ่งนำไปสู่ Connection ดีๆ ได้ต่อไป 

ความจริงอาจเป็นไปได้ว่า ผู้คนละแวกนี้ก็เป็นชาวบ้านคนธรรมดาเหมือนเรานี่แหล่ะ เพียงแต่มีบ้านพักตากอากาศขนาดใหญ่ของ “มหาเศรษฐีเพียง 3 หลัง” ที่มาสร้างอยู่ละแวกนี้ และรายได้พวกเค้าดันถูกรวมมาหาค่าเฉลี่ยด้วยนั่นเอง

กลเม็ดค่าเฉลี่ยถูกใช้มาเนิ่นนานแล้ว นิตยสาร The New York Sun เคยตีพิมพ์ว่า “นักศึกษาที่สำเร็จการศึกษาจาก Yale University ในปี 1924 โดยเฉลี่ยมีรายได้ 25,111 ดอลล่าร์/ปี” ซึ่งสร้างความเคลือบแคลงใจให้กับผู้อ่านมากเพราะตัวเลขเยอะเหลือเกิน ภายหลังจึงค้นพบว่า ค่าเฉลี่ยนี้มาจากผู้ถูกสำรวจแค่ “บางกลุ่ม” และล้วนเป็นเหล่า “เศรษฐี” แทบทั้งนั้น

ระวังยังไงได้บ้าง ?

ถ้าเจอกับตัวเลข “ค่าเฉลี่ย” ไม่ว่าจะเรื่องไหน ให้ค้นหาเพิ่มเติมว่าเป็น Mode / Mean / Median ก่อนคิดวิเคราะห์ต่อจากนั้น (และอย่าเผลอมีอคติ ตัวเลขนั้นอาจสมเหตุสมผลก็ได้)

หาการกระจายตัว (Distribution) ของข้อมูล เช็คว่ามีข้อมูลไหนผิดปกติหรือ “โดดออกจากเพื่อน” มากน้อยเกินไปหรือไม่ (เช่น ทรัพย์สิน Jeff Bezos) ถ้าใช่ จะทำให้ค่าเฉลี่ยโดยรวมเปลี่ยนแปลงขนานใหญ่จนแทบไร้ประโยชน์ทันที และจะยิ่งเวิร์คถ้าเราศึกษาลงลึกถึงต้นตอว่าทำไมข้อมูลนั้นถึงโดดออกจากเพื่อน อาจทำให้เราพบคำตอบที่น่าสนใจ

  • โดยเฉลี่ย บริษัททั่วไปมีพนักงานกี่คน?
  • โดยเฉลี่ย แต่ละเมืองมีประชากรกี่คน?
  • โดยเฉลี่ย หนังสือขายได้กี่เล่ม?
  • โดยเฉลี่ย ซีอีโอมีรายได้เดือนละเท่าไร?
  • โดยเฉลี่ย นักแสดงได้ค่าจ้างคนละเท่าไร?

แน่นอน เราสามารถหา “คำตอบ” ให้กับทุกคำถามเหล่านี้ได้อยู่แล้ว แต่ต้องมองให้ลึกไปกว่าตัวเลขค่าเฉลี่ยด้วย มิเช่นนั้น จะมองความจริงผิดเพี้ยนไปได้

.

.

เราสามารถนำการตระหนักรู้ถึงกับดักค่าเฉลี่ยไปใช้กับ “ประเด็นอื่น” ในชีวิต เช่น ในเรื่องของความเหลื่อมล้ำ ดังที่ William Gibson เคยกล่าวไว้ว้า “The future is already here—it’s just not very evenly distributed.”

“อนาคตอยู่ที่นี่แล้ว เพียงแต่มันไม่ได้กระจาย(ความมั่งคั่ง)อย่างเท่าเทียม”

เราอยู่ในโลกสมัยใหม่ที่มีเทคโนโลยีและความสะดวกสบายมากมาย คนธรรมดาในวันนี้มีชีวิตความเป็นอยู่หลายอย่างที่สุขสบายกว่าราชาสมัยก่อนด้วยซ้ำ เพียงแต่ไม่ใช่มนุษย์ทุกคนบนโลกที่จะเอนจอยกับความสุขสบายเหล่านี้ ยังมีมนุษย์อีก ‘หลายพันล้าน’ คนที่ยังอยู่แบบยากจนข้นแค้น ขณะที่มนุษย์เพียง ‘หยิบมือ’ อยู่แบบราชา

เมื่อเราตระหนักเช่นนี้ เราอาจลงมือทำอะไรบางอย่างเพื่อลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำก็เป็นได้..

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ และมีความสุขกับการทำงานในทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/


อ้างอิง

Author

  • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

Laura Vanderkam
ไม่มีคำว่า “ไม่มีเวลา” อีกต่อไปถ้าคุณมี Mindset แบบนี้ โดย Laura Vanderkam นักเขียนชื่อดังด้านการจัดการเวลา
สรุปวิธีคิดที่จะทำให้คุณ “มีเวลา” สำหรับสิ่งสำคัญในชีวิต โดยลอรา แวนเดอร์แคม (Laura Vanderkam) นักเขียนชื่อดังด้านการจัดการเวลา ผู้บรรยาย TED Talk ที่มียอดวิวหลายล้าน...
Vacation Blues
10 เคล็ดลับ "Bounce Back" สลัดอาการ "Vacation Blues" ให้หายเป็นปลิดทิ้ง!
อาการ “Vacation Blues” หรือความเศร้าหลังไปเที่ยวหยุดยาว เป็นอาการปกติที่เล่นงานคนทำงานอย่างหนักอึ้ง ซึ่งเกิดขึ้นกับคนทำงานหลายคนโดยเฉพาะช่วงหยุดยาว อย่างไรก็ตามการจมกับความเศร้าหลังเที่ยวไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก...
Harvard Business Review
ผลสำรวจพบเทรนด์ใหม่คนทำงาน เลือกใช้ AI ดูแลจิตใจแซงการทำงาน โดย Harvard Business Review
งานวิจัยจาก Harvard Business Review เพิ่งออกมา มีผลสำรวจพบว่าคนทำงานเปลี่ยนการใช้ AI จากเครื่องมือทำงาน มาเป็น “เพื่อนคู่ใจ” แทน สิ่งที่เปลี่ยนไปในปี...