ท่ามกลางคำจำกัดความของ Generations ที่ก่อให้เกิดความแตกแยก อย่าง Baby boomers ก็หัวโบราณแบบนี้แหละ Gen Z ขี้เกียจ ไม่เอาถ่าน Mauro ผู้เขียนหนังสือ The Perennials เห็นว่า เราไม่ควรแบ่ง Generations จากอายุ อีกต่อไป เพราะในอนาคต คนที่อายุเท่ากัน อาจมีความคิดอ่าน Lifestyle หรือแม้แต่สุขภาพ ที่แตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง
ระบบปัจจุบันคาดหวังให้มนุษย์ มี 4 ขั้น คือ เล่น เรียน ทำงาน เกษียณ
1. เล่น (วัยทารก วัยเด็กตอนต้น และเด็กก่อนเข้าเรียน) อายุ 0 – 5 ขวบ
2. เรียน (วัยเรียน วัยรุ่น) อายุ 6 – 21 ปี
3. ทำงาน (วัยหนุ่มสาว วัยกลางคน) อายุ 22 – 60 ปี
4. เกษียณ (วัยชรา) อายุ 61 – 72 ปี (ในปี 2022 อายุคาดเฉลี่ยของคนทั่วโลก คือ 72 ปี)
ซึ่งการแบ่งแบบนี้ ทำให้เห็นชัดเจนว่าใครมีบทบาทในสังคม วัยเล่น และวัยเกษียณ ไม่มีบทบาท
แต่นอกจากนั้น ผู้หญิง ก็ไม่มีบทบาทเท่าผู้ชาย เช่นเดียวกัน
สังคมสร้างภาพความสำเร็จของคนในแต่ละช่วงวัยชัดเจน เช่น วัยรุ่นในสหรัฐอเมริกา จะย้ายออกจากบ้านเมื่อเข้าเรียนมหาวิทยาลัย ทำให้เกิด empty nest รังที่ว่างเปล่า พ่อแม่ เหงา เพราะลูกไม่อยู่บ้าน
บ้านไหนที่ลูกอายุ 35 แล้วแต่ยังอยู่กับพ่อแม่ ก็ถือว่า ลูกไม่ประสบความสำเร็จ จึงยังต้องพึ่งพิงพ่อแม่
และเมื่อถึงวัยทำงานซึ่งผู้ชายจะมุ่งมั่นทุ่มเทกับการทำงานให้เติบโตก้าวหน้า
ด้วยกายภาพที่จะสามารถมีลูกได้ในช่วงอายุที่เริ่มทำงานไม่เกิน 10 ปี ผู้หญิงในช่วงวัยที่กำลังจะได้รับโอกาสเลื่อนตำแหน่ง ก็จะต้องเลือกระหว่างหน้าที่การงาน หรือ การสร้างครอบครัว
สังคมคาดหวังให้ ผู้หญิง ทำหน้าที่เลี้ยงดูลูก และสามี โดยที่สามีก็ทำงานนอกบ้าน
ส่วนคนวัยเกษียณ สังคมก็ไม่ได้คาดหวังให้สามารถกลับไปเรียนในมหาวิทยาลัยอีกครั้ง
ซึ่งการแบ่ง 4 สถานีชีวิต อาจจะเป็นระบบที่ทำงานได้ดี เหมาะสมสำหรับยุคที่ผ่านมา โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ชาย (เพราะผู้หญิงจะเสียเปรียบเรื่องงาน) แต่ผู้ชายเองก็เสียจะหัวโขนไป เมื่ออายุถึง 60 เพราะต้องเกษียณอายุ
ข้อเสีย
- บังคับให้วัยรุ่นอายุ 13 – 17 ตัดสินใจสิ่งที่สำคัญในชีวิตอย่างการเลือกอาชีพในอนาคต ทั้งๆ ที่อาชีพจะเปลี่ยนแปลงอีกมาก
- ทำให้วัยรุ่นคิดว่า งานที่ตัวเองทำ คือ ตัวตน ด้วยการถามว่า โตขึ้น อยากเป็นอะไร ซึ่งคำตอบที่คาดหวัง คือ อาชีพ สื่อให้คิดว่าโตขึ้นเป็นวิศวกร ก็ต้องเป็นวิศวกรไปตลอดชีวิต ทั้งๆ ที่น่าจะต้องเปลี่ยนอีกหลายอาชีพ แทนที่จะบังคับให้วัยรุ่น focus ที่การตัดสินใจสำคัญ ท่ามกลางความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว ควร focus ที่การพัฒนาทักษะที่จะสำคัญในอนาคต เช่น ทักษะการเรียนรู้สิ่งใหม่, การแก้ปัญหาที่ไม่ชัดเจน และซับซ้อน, ทักษะความคิดสร้างสรรรค์ และการปฏิสัมพันธ์กับคนอื่นมากกว่า
- ทำให้คนที่ผิดพลาด ตกขบวน ไม่มีสิทธิ์กลับขึ้นขบวนรถไฟนี้อีก
เช่น คนที่ติดยา และหลุดออกจากระบบการศึกษา เมื่ออายุเกิน ก็ไม่สามารถกลับเข้าระบบได้อีก
ควรเปิดกว้างให้ใครก็ตามที่อยากเรียน ได้เรียน ไม่ว่าจะอายุเท่าไหร่ มีหลายมหาวิทยาลัยที่เปิดให้คนทั่วไปเรียนออนไลน์ได้ และ University of Pennsylvania ก็เปิดให้เข้าเรียนในชั้นเรียน แต่มักจะแยก นักศึกษาที่มีอายุมาก 30 – 40 ปีออกจากนักศึกษา ทั่วไป (ที่อายุไม่เกิน 22 ปี) แต่ Columbia University เห็นต่าง โดยให้นักศึกษาวัย 30 – 40 ปี เรียนรวมกับนักศึกษาปริญญาตรีภาคปกติ ซึ่งทำให้นักศึกษาทั้งสองกลุ่มได้เรียนรู้ประสบการณ์ และทักษะเฉพาะตัว ซึ่งกันและกัน
อาชีพในอนาคต
Mauro คาดว่า เราจะต้องมี 3 อาชีพ ตลอดอายุขัย
(แต่เอ็มเชื่อว่าเด็กจบใหม่ จะมีอย่างน้อย 5 อาชีพ เนื่องจากอาชีพจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วในอนาคต และเพิ่งรู้ว่า Financial Times เคยตีพิมพ์บทความเรื่อง Plan for Five Careers in a Lifetime มาก่อน)
ข้อดี คือ เรามีโอกาสที่ 2 และ 3 ไม่ได้ต้องยึดการตัดสินใจครั้งเดียวตอนอายุ 13 – 17 ก่อนเข้ามหาวิทยาลัยอีกต่อไป
Mauro กล่าวถึง เพื่อนของเค้าที่เป็นนักบัลเล่ย์ เรียนม.ปลายไม่จบ แต่สามารถเปลี่ยนสายงานมาเป็น Chief Investment Officer ที่ Stanford University ซึ่งมีหน้าที่บริหารเงินก้อนใหญ่อันดับต้นๆ ของสหรัฐอเมริกาได้
และยังมีอีกหลายคนที่เปลี่ยนสายอาชีพ เช่น อดีตโค้ชกีฬา ที่ผันตัวมาเป็นนักศึกษาแพทย์ตอนที่อายุมากแล้ว หรือทนายความที่เคยทำอาชีพอื่น มา 3 อาชีพ
อายุยืนขึ้น แต่สุขภาพอาจไม่ได้ดีตาม
ในขณะที่คนมีอายุยืนขึ้น อายุขัยของคนในสหรัฐอเมริกาเพิ่ม 32 ปี ในช่วงปี 1900 – 2022 จาก 46 เป็น 78 ปี
จากการดูแลสุขภาพ ความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยีทางการแพทย์
และจำนวนปีที่เหลืออยู่ในชีวิตของชาวอเมริกัน ยุโรป ลาตินอเมริกา และเอเชีย คือ 19 – 25 ปี
ซึ่งถ้าจะต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยเงินเก็บ ไม่มีรายได้อีก 25 ปี จะทำให้ยากลำบาก
โดยเฉพาะในประเทศที่อัตราการออมไม่สูง อย่างสหรัฐอเมริกา (จากผู้เขียน) และไทย (จากความเห็นของเอ็มเอง)
ข่าวดี คือ คนจะใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาพดีได้อีก 13 – 17 ปีหลังอายุ 60 (วัยเกษียณเดิม) ทำให้ในสหรัฐอเมริกา คนที่เกษียณอายุแล้วราว 40% กลับมาทำงานอีกครั้ง บางส่วนเป็นเหตุผลด้านการเงิน บางส่วนต้องการรู้สึกว่าตัวเองมีคุณค่า
ในประเทศจีน ประชากรวัยเกษียณราว 55 ล้านคน กลับเข้าระบบการศึกษา เช่น เรียนเปียโน เพื่อมาเป็นครูสอนเปียโน เป็นต้น
ทั้งนี้ อายุขัย กับสุขภาพ ก็ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน คนส่วนใหญ่จะสามารถใช้ชีวิตได้ปกติ จนกระทั่ง 8 ปีสุดท้าย ซึ่งจะมีสุขภาพย่ำแย่
ประชากรในเกือบทุกประเทศ ที่อายุขัย ยืนยาวขึ้น ก็มักจะมีสุขภาพดี ยาวนานขึ้นตามไปด้วย ยกเว้น สหรัฐอเมริกา ที่อายุขัยเพิ่มขึ้น แต่ช่วงอายุที่มีสุขภาพดี ไม่ยืนยาวตาม
ขนาดครอบครัวของคนในสหรัฐอเมริกาก็เปลี่ยนไป
เมื่อก่อน คนจำนวนมาก จะย้ายออกไปอยู่เป็นครอบครัวเดี่ยว ที่มีเพียง พ่อแม่ และลูกอายุไม่เกิน 18 ปี ในปี 1970 มีครอบครัวเดี่ยว ถึง 40% ทำให้ผู้สูงอายุอยู่ตามลำพัง
แต่ในปี 2021 ครอบครัวเดี่ยวลดลง เหลือเพียง 18% ในขณะที่ ครอบครัวขยาย ที่มีคน 3 Generations ขึ้นไป อยู่ร่วมกัน เพิ่มขึ้น จาก 7% ในปี 1971 เป็น 18% ในปี 2021
และแนวโน้มเพิ่มขึ้นของครอบครัวขยาย ไม่ได้เป็นผลมาจาก ความจำเป็นด้านการเงิน ไม่สามารถหาเงินซื้อบ้านได้ เหมือนที่สังคมสร้างบรรทัดฐานไว้ เพราะผู้ที่ตอบแบบสำรวจจำนวนมากมีรายได้ต่อครัวเรือนมากกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ หรือ กว่า 3.5 ล้านบาท
แต่ความสมัครใจที่จะอยู่รวมกันหลายเจน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะความสะดวกในการดูแลผู้สูงอายุ และเด็กในเวลาเดียวกัน อีกส่วนหนึ่งเป็นการประหยัดค่าใช้จ่าย (แม้อยู่แยกกันก็อยู่ได้ แต่อยู่รวมกัน ทำให้ค่าใช้จ่ายต่อคนลดลง)
ภาครัฐควรปรับตัวอย่างไร
- Pension Fund กองทุนเพื่อการเกษียณอายุ
เนื่องจากคนจะมีอายุขัยยืนยาวขึ้นหลังเกษียณ ในขณะเด็กเกิดน้อยลง ประชากรวัยทำงานที่ส่งเงินเข้ากองทุนจึงจะลดลง กองทุนเพื่อการเกษียณอายุ Pension Fund ปัจจุบัน จะไม่ยั่งยืนอีกต่อไป
- สนับสนุนให้เกิดการเรียนรู้ตลอดชีวิต Lifelong Learning
เช่น การเรียน Online และได้ certificate เพื่อสมัครงาน เพื่อให้คนสามารถหาเลี้ยงชีพได้หลังวัยเกษียณ
องค์กรควรปรับตัวอย่างไร
- ส่งเสริมให้ทำงานร่วมกันหลายรุ่น หลายเจน
BMW มีคน 5 Generations ทำงานอยู่ในบริษัทขณะนี้ พบว่า คนสูงอายุ ที่มักคล่องแคล่วลดลง เมื่อทำงานร่วมกับคนที่อายุน้อย ก็สามารถเพิ่มความคล่องแคล่วขึ้นได้ ในขณะที่ คนอายุน้อยคล่องแคล่วแต่ขาดประสบการณ์ส่งเสริมให้ทำงานร่วมกันหลายรุ่น หลายเจน
เมื่อองค์กรมีหลาย Generations ทำงานร่วมกัน ด้วยความแตกต่างหลากหลาย ผสมผสานระหว่างความคล่องแคล่วและประสบการณ์ ทำให้ทำงานไว ผิดพลาดลดลง และมีมุมมองการแก้ไขปัญหาหลากหลายรูปแบบขึ้นด้วย
จึงก่อให้เกิดความคิดสร้างสรรค์มากกว่า องค์กรที่มีเพียง 2 Generations ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าคนที่อายุเยอะจะต้องเป็นหัวหน้าคนที่อายุน้อยเสมอไป - รับคนที่มีอายุมากเข้าทำงาน
ปัจจุบันมีองค์กรจำนวนมาก (โดยเฉพาะในไทย) ไม่รับคนที่อายุเกิน 30 – 35 ปี เข้าเป็นพนักงาน (นอกจากจะเข้าไปเป็นผู้บริหาร) แต่ในอนาคต จะมีผู้ใหญ่ ที่เปลี่ยนอาชีพ คนเหล่านี้ จะเริ่มสายอาชีพใหม่ ด้วยประสบการณ์เป็น 0 จึงเทียบเท่าบัณฑิตจบใหม่ ซึ่งก็จะเข้ามาเป็นลูกน้องของผู้ที่อายุน้อยกว่า - รับคนที่มีวุฒิการศึกษาจากการเรียนออนไลน์
เพราะพนักงานอายุมาก อาจเคยเรียนปริญญาตรีหลักสูตรปกติสาขาอื่น แล้วมาเรียนออนไลน์ตอนที่จะเปลี่ยนสายอาชีพ - เพิ่มความยืดหยุ่น
ไม่จำเป็นว่าทุกคนจะต้องทำงานเต็มเวลา โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อมีผู้สูงอายุในองค์กร
คนกลุ่มนี้ อาจต้องไปพบแพทย์ และอาจมี Grandparents’ vacation ให้คนทำงานที่มีหลาน สามารถลาไปเลี้ยงหลาน เป็นต้น
ตัวเรา ควรปรับตัวอย่างไร
- รักษาสุขภาพ
ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ทานอาหารที่ไม่ผ่านกระบวนการมากนัก เพื่อให้ สุขภาพของเราแข็งแรงยาวนาน ใกล้เคียงอายุขัยของเรา จะได้ใช้ชีวิตได้เต็มที่จนช่วงสุดท้าย - เรียนรู้ตลอดชีวิต
เรียนรู้สิ่งใหม่ และหมั่นทดลองสม่ำเสมอ ตลอดชีวิต เพราะเราจะไม่ได้เลือกสายวิชาที่เรียน แล้วเลือกอาชีพตามสายนั้น และทำไปตลอดชีวิตได้อีกแล้ว - เปิดใจเรียนรู้จากคนต่างเจน
เพราะในที่สุดแล้ว คนอายุมาก ก็มีประสบการณ์มากกว่า ในขณะที่คนอายุน้อย ก็คล่องแคล่ว และเก่งเทคโนโลยีมากกว่า เมื่อแลกเปลี่ยน เรียนรู้ซึ่งกันและกัน ก็จะสามารถหาแนวทาง แก้ปัญหาที่ซับซ้อน และไม่ชัดเจนได้
เพราะคลื่นแห่งความเปลี่ยนแปลง จะสร้างโลกใหม่ ที่วัยไร้เส้นแบ่ง จนเราจะเป็นมนุษย์รุ่นเดียวกัน ในอีกไม่นาน
อ่านเต็มๆ ได้ใน The Perennials อีกไม่นานเราจะเป็นมนุษย์รุ่นเดียวกัน ฉบับภาษาไทย โดยสำนักพิมพ์ Be(ing) ในเครือ Biblio