นี่คือตัวอย่างเทคนิคชั้นเชิงของการใช้ “คำทรงพลัง”
แปลกแต่จริง หลายครั้งมนุษย์เราไม่ค่อยให้ความสนใจกับคำพูดอะไรที่ตรงไปตรงมา ต้องใส่ “ศิลปะ” วาทศิลป์การพูดลงไปก่อนถึงจะค่อยหันมามอง
เรื่องแรกที่ต้องจำขึ้นใจก่อนเลยคือ “อย่าพึ่งรีบพูด…สิ่งที่ต้องการพูด” (ไม่พูดตามที่ใจคิด) เพราะส่วนมากจะไม่ค่อยเวิร์คหรอก ตัวอย่างง่ายๆ เช่น
- ไปเดตกันไหมครับ VS. ผมรู้จักพาสต้าอร่อยมากอยู่ร้านนึง ลองไปทานด้วยกันไหมครับ
คุณ Sasaki Keiichi ผู้คว่ำหวอดในวงการโฆษณาญี่ปุ่นเผยว่า เพราะเราอยู่ในยุคข้อมูลล้นโลก (Overloaded information) ข้อมูลไหนที่ไม่มีเอกลักษณ์จะถูก “มองข้าม” ทันทีและถูกปฏิบัติราวกับ “ไม่มีตัวตน”
และคำพูดคำจาของเราก็เป็นข้อมูลอย่างหนึ่ง จึงต้องมีชั้นเชิงในการพูดเพื่อให้มีตัวตน-ถูกมองเห็น-ได้ในสิ่งที่หวัง
เทคนิคการสร้าง “คำทรงพลัง”
แม้แต่ร้านอาหารมิชลินสตาร์ยังต้องมี “สูตรอาหาร” เพื่อควบคุมรสชาติให้มีมาตรฐานเหมือนกันเลย หัวหน้าเชฟจะไม่หวังพึ่งไหวพริบความรู้สึกส่วนตัว
คุณ Sasaki Keiichi แนะนำว่าการสร้าง “คำทรงพลัง” ก็มีสูตรที่เอาไปใช้เป็นมาตรฐานได้เช่นกัน เทคนิคนั้นมีหลายแบบ แต่มีชั้นเชิงหนึ่งที่เหมือนกันคือ การทำให้ประโยค “ไม่ราบเรียบ” ยิ่งราบเรียบน้อยเท่าไร…คนยิ่งประทับใจ (เหมือนรถไฟเหาะ)
เรียกชื่อ
คนเราจะตอบสนองเวลาถูก “เรียกชื่อ” แค่การเรียกชื่อสั้นๆ ก็ช่วยสร้างความรู้สึกใกล้ชิดและผูกพัน…และอย่างที่รู้สึกกัน คนเรามักปฏิเสธคนใกล้ชิดได้ยาก แต่ปฏิเสธคนที่ไม่รู้สึกผูกพันได้ง่าย
เช่น คุณลงจากรถผู้บริหารกำลังเดินเข้าตึกอาคารแต่เช้าตรู่แล้วเจอหัวหน้ารปภ.
- อ้าว วันนี้มาทำงานแต่เช้าเลยนะ VS. อ้าวสุชาติ วันนี้มาทำงานแต่เช้าเลยนะ
เทคนิคนี้จะดีมากถ้าใช้ควบคู่กับการ “ขอบคุณ”
คนเราจะไม่ค่อยปฏิเสธคำขอบคุณ เพราะความรู้สึก “อยากช่วยเหลือ” คนที่มองเห็นคุณค่าของเรา อยู่ในสัญชาตญาณมนุษย์อยู่แล้ว
- รบกวนช่วยส่งมอบให้ลูกค้าทีนะครับ VS. คุณออย ขอบคุณมากนะครับที่ช่วยเหลือผมมาตลอด รบกวนช่วยส่งมอบให้ลูกค้าทีนะครับ
คำขัดแย้ง
นี่คือเทคนิคสุดคลาสสิกและเป็นสากลมากๆ พบเจอในแทบทุกวัฒนธรรมเลยก็ว่าได้
ให้นำประโยคที่ต้องการสื่อสารไปไว้ข้างหลัง และแทรกขึ้นต้นด้วยประโยคที่ “ขัดแย้ง” หรืออยู่ขั้วตรงข้ามขึ้นมาก่อน คีย์เวิร์ดพื้นฐานคือคำว่า “แต่”
- “นี่ไม่ใช่ชัยชนะของผม…แต่มันคือชัยชนะของพวกคุณ”
- “ใครจะเป็นศัตรูกับคุณก็ช่าง…แต่ผมคนหนึ่งล่ะที่เป็นมิตร”
- “ปกติผมเป็นคนประนีประนอม…แต่ไม่ใช่กับดีลครั้งนี้”
- “ครัวซองค์ร้านอื่นธรรมดาไปเลย…เมื่อมาเจอครัวซองค์แสนอร่อยของร้านนี้”
- “เทคโนโลยีช่วยให้เราสะดวกสบายมากขึ้น…แต่ทำไมเรากลับมีเวลาน้อยลง”
- “จากแม่บ้านโรคซึมเศร้า สู่เจ้าของ Auntie Anne’s”
ปฏิกิริยาร่างกาย
แม้คำที่สื่อถึงปฏิกิริยาร่างกายอาจไม่ได้ใช้พูดจนเกร่อในชีวิตประจำวันนัก แต่จะมีประสิทธิภาพในภาษาเขียนมาก แถมช่วยให้คนรับสารนึกภาพตามได้ง่ายด้วยเพราะเรามีปฏิกิริยาร่างกายเหมือนกัน
- “พอได้ยินคำปราศัยของคุณ…ผมนี่ขนลุกไปทั้งตัวเลย”
- “ห้องประชุมวันนี้บรรยากาศตึงเครียดมาก เงียบจนได้ยินเสียงหัวใจตัวเองเต้น”
คำซ้ำ
นอกจากตราตรึงในความทรงจำแล้ว ยังไฮไลท์หัวใจสำคัญของคีย์เวิร์ดที่ต้องการสื่อสารไปในตัว
- “การปกครองของประชาชน โดยประชาชน เพื่อประชาชน”
- “อาหารร้านนี้อร้อย อร่อย อร่อยกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว”
- “ทุกคนมี Growth Mindset ในตัว ขอให้จำไว้ว่าพวกคุณทำได้ คุณทำได้…สุดท้ายคุณจะต้องทำได้!!”
- “ทุกเช้าผมจะตื่นมาออกกำลังกาย มื้อเช้าผมจะกินให้เยอะเสมอ ก่อนนั่งทำงานเงียบๆ ในตอนเช้า…ที่สำคัญ ผมตื่นนอนเช้าตรู่เป็นประจำ”
เปรียบเปรย
เทคนิคนี้ช่วยให้คนฟัง “นึกภาพตาม” และช่วยในการจดจำได้ง่ายที่สุด (แต่มีข้อระวังคือ สิ่งที่เปรียบเปรยต้องเป็นสิ่งที่ผู้ฟังมีความเข้าใจหรือคุ้นเคยระดับหนึ่ง)
- “บริหารคนในองค์กรให้เหมือนทีมฟุตบอล”
- “ธุรกิจก็เหมือนการปลูกต้นไม้ ถ้าปุ๋ยดี ธุรกิจก็โตไว”
- “การเจรจาต่อรองก็เหมือนละคร มีบางตอนต้องแสดง”
- “อีโก้ก็เหมือนการใส่ส้นสูง ทำให้คุณดูดี แต่ใส่นานๆ แล้วเมื่อย”
พิเศษเฉพาะคุณ
มนุษย์จะรู้สึกดีเป็นพิเศษเมื่อมีใครทำอะไรให้เราคนเดียว จะยิ่งมีประสิทธิภาพถ้าเกริ่นนำก่อน ช่วยเพิ่มความอยากรู้อยากเห็น (Curiosity) ไปในตัว
- “เรื่องนี้มีแค่คุณเท่านั้นนะครับที่จะได้รู้”
- “รู้แล้วอย่าไปเล่าให้ใครฟังนะครับ”
- “เอาตรงๆ ผมไม่เคยเล่าเรื่องนี้ให้ใครฟังมาก่อนเลยนะ คุณคือคนแรก”
ตัวอย่างการใช้ “คำทรงพลัง”
David Ogilvy ผู้ได้รับสมญานามว่าเป็น “บิดาแห่งการโฆษณา” เคยสร้างสรรค์ผลงานหนึ่งในปี 1958 ซึ่งกลายเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงให้คนรุ่นหลังได้ร่ำเรียนกันว่า
“At 60 miles an hour the loudest noise in this new Rolls-Royce comes from the electric clock.”
แทนที่จะบอกว่า “รถคันนี้เงียบที่สุด” แต่เขากลับใส่ท่วงท่าให้กับประโยค
- ใช้ “ตัวเลข” 60 ไมล์/ชั่วโมง มาอ้างอิงเพื่อความเป็นรูปธรรม เป็นหลักฐานที่จับต้องได้ ทุกคนเข้าใจตรงกัน
- มีการแฝง “คำขัดแย้ง” อย่าง “The loudest noise” วางไว้อยู่ข้างหน้าคำที่ต้องการสื่อสาร
- มีการใช้เทคนิค “คำเปรียบเปรย” อย่าง “เสียงนาฬิกา” เพื่อสื่อถึงความเงียบสงบ เป็นอะไรที่จับต้องได้ เสมือนจินตนาการว่าได้นั่งอยู่ในรถ
มีการใส่เทคนิคคำทรงพลังมาไว้ในประโยคได้อย่างแนบเนียน อ่านแล้วรู้สึกลื่นไหลลงตัว โฆษณาชุดนี้ประสบความสำเร็จอย่างยิ่งใหญ่ ผลงานของเขาขึ้นหิ้งคลาสสิก ตัวเขาเองกลายเป็นไอคอนแห่งวงการ
ปี 1997 ตอนที่ Tony Blair นายกรัฐมนตรีอังกฤษสมัยนั้น ต้องการเน้นย้ำการให้ความสำคัญเรื่อง “การศึกษา” เป็นวาระแห่งชาติ เคยกล่าวขึ้นสั้นๆ ว่า
“Education, education, education.”
เป็นเทคนิค “คำซ้ำ” อันเรียบง่ายแต่ตราตรึงว่าการศึกษาต้องมาเป็นอันดับหนึ่ง และสร้างภาพจำของ Tony Blair และการศึกษาไปโดยปริยาย
Reed Hastings ผู้นำ Netflix เคยโต้แย้งว่าเค้าไม่เคยมองสมาชิกในทีมบริษัทเป็นครอบครัว…หากแต่มองและบริหารพวกเขาเป็น “ทีมฟุตบอล” แต่ละคนมีหน้าที่ของใครของมัน ต้องช่วยเหลือกัน ใครทำพลาดก็มีสิทธิ์โดนพักเกม
เทคนิค “คำเปรียบเปรย” ของเขาทรงพลังมาก และมีอิทธิพลทางความคิดต่อผู้นำองค์กรอีกหลายต่อหลายคนที่ออกมาเห็นด้วย
สุดท้าย เทคนิคคำทรงพลังเหล่านี้สามารถนำไปใช้ได้ทั่วโลก ทุกประเทศ ทุกเขื้อชาติ ทุกวัฒนธรรม เพราะมันล้วนมีพื้นฐานความเป็นมนุษย์ คุณเองก็เริ่มต้นลองได้ง่ายๆ เช่นกัน
.
.
ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ พร้อมมีความสุขกับการทำงานในทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/
ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com
ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/
อ้างอิง
- หนังสือ แค่ใช้คำให้ฉลาด ก็เพิ่มโอกาสจาก 0 เป็น 100 โดย Sasaki Keiichi
- https://www.successconsciousness.com/blog/affirmations/the-power-of-repeated-words
- https://swiped.co/file/rolls-royce-ad-by-david-ogilvy/
- https://www.crowdspring.com/blog/marketing-power-words/