บอกลา Specialist ผู้หมกมุ่น…ได้เวลาเป็ด Multipotentialite ครองโลก!

Specialist
ศาสตร์ต่างๆ ที่ไม่เกี่ยวข้องกันเลยหรือดูไม่น่าจะเกี่ยวข้องกันได้ กลับเดินทางเข้ามาบรรจบกัน นี่คือความมหัศจรรย์อย่างหนึ่งของ “Multipotentialite” คนที่รู้รอบด้าน…แต่รู้ไม่ลึกซักอย่าง หรืออาจเรียกขำๆ ได้ว่า “ความรู้แบบเป็ด”

ที่มาสั้นๆ… Multipotentialite เป็นศัพท์ที่นักจิตวิทยาคิดค้นขึ้นมาตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 เดิมเป็นคำที่ให้ความหมายด้านลบ สื่อถึงคนที่ทำอะไรหลายอย่างแต่ไม่เก่งจริงซักอย่าง ซึ่งสอดคล้องกับช่วงปฏิวัติอุตสาหกรรมที่โลกสมัยนั้นที่แต่ละคนเชี่ยวชาญอาชีพด้านใดด้านหนึ่งไปเลย (specialist)

เป็ดที่บินได้ในยุคนี้

แต่ความ ‘ครึ่งๆ-กลางๆ’ หลายด้านกลับเป็นข้อได้เปรียบในยุคนี้ ด้วยองค์ความรู้รอบด้านที่มีสะสมในตัว จึงมีแนวโน้มจะ “ปรับตัว” อยู่รอดได้ง่ายและเร็วกว่า จากวิกฤติโควิด-19 คือเหตุการณ์ที่ชัดเจนที่สุดในเรื่องนี้แล้ว บริษัทที่ชำนาญแค่เรื่องเดียว พอเจอวิกฤติซัดกระหน่ำตรงๆ ก็หาทางอื่นไปไม่เป็นจนต้องปิดบริษัท 

Multipotentialite ยังเป็นคนกลุ่มแรกๆ ที่โชว์ศักยภาพ “ความคิดสร้างสรรค์” ออกมาได้ดี เพราะเชื่อมโยงสิ่งต่างๆ หลายด้าน(ที่เหมือนไม่เกี่ยวข้อง)ให้ไปกันได้ 

ดังคำกล่าว “Connecting the dots” ของ Steve Jobs ที่ว่าคุณควรรอบรู้หลายด้าน ตอนแรกคุณอาจยังไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่เรียนรู้ไปจะช่วยให้ชีวิตดีขึ้นได้อย่างไร แต่ถึงจุดหนึ่งที่คุณมีข้อมูลมากพอ (Dots) คุณจะสามารถเชื่อมโยงมันเข้าหากันได้และนั่นคือจุดเริ่มต้นของนวัตกรรมใหม่ๆ 

Steve Jobs ยังกล่าวทิ้งท้ายเชิงเสียดายว่า…แต่น่าเศร้าที่คนส่วนใหญ่ทุกวันนี้ไม่มี Dots มากพอ เพราะพวกเขาไม่มีประสบการณ์ที่หลากหลาย (Typography หรือการจัดวางและออกแบบตัวอักษร คือศาสตร์ที่ Steve Jobs เคยเรียนเมื่อนานมาแล้ว ก่อนจะนำมาใช้กับ iPhone ในอีกหลายสิบปีต่อมา)

เรื่องนี้ยังฝึกให้เรามีมุมมองทัศนคติที่กว้างไกล เปลี่ยนวิกฤติให้เป็นโอกาส

กระดาษ Post-it ที่ออฟฟิศใช้กันทั่วโลก เดิมตั้งใจจะทำให้กาวยึดติดแน่น…แต่ล้มเหลว แต่ผู้ประดิษฐ์มองความล้มเหลวนี้และเชื่อมโยงไปสู่ “ความยืดหยุ่น” ในการย้ายที่แปะไปเรื่อยๆ (แทนที่จะยึดติดที่เดียว) กลับกลายเป็นตอบโจทย์ผู้ใช้งานมากกว่า และใช้กันมาถึงทุกวันนี้

Specialist

รู้แบบเป็ด x คนธรรมดา

เราลองมาดูตัวอย่างง่ายๆ ได้จาก ‘คนธรรมดา’ คนหนึ่งยุคนี้ที่รู้แบบเป็ด ซึ่งอาจสร้างช่องทางรายได้และชื่อเสียงได้อย่างน่าสนใจ

  • เขาอาจมีอาชีพหลักเป็น Online Marketer ที่บริษัทเอเจนซี่แห่งหนึ่ง
  • แต่เวลาว่างเขาทำ Facebook Page สายของกินที่มีผู้ติดตามหลายหมื่นคน มีแบรนด์มาลงโฆษณาเดือนละ 1 ครั้ง 
  • พร้อมๆ กับรับจ้างถ่ายภาพอาหารลงนิตยสารเดือนละ 2 ครั้ง
  • ไปเข้าตาสำนักพิมพ์จนต้องร้องขอให้รวมเล่มเป็นหนังสือ (แม้ไม่ใช่นักเขียนมืออาชีพ)
  • เปิดบูธขายของกินตามงานอีเว้นท์ใหญ่ๆ ปีละ 2 ครั้ง (ทำได้แค่นี้แหล่ะ ไม่รู้ระบบแฟรนไชส์)
  • ศึกษาและออมในหุ้นทุกเดือนอย่างมีวินัย ได้ผลตอบแทน 5% ต่อปี (ไม่ได้รู้ลึกเรื่องหุ้นอะไร ขอแค่ 5%/ปี พอ)

อย่างละนิด-อย่างละหน่อย แต่นานวันเข้าความรู้แบบเป็ดก็สร้างรายได้ ชื่อเสียง ผลงาน ประสบการณ์ และ Connection ให้คนธรรมดาได้ไม่น้อย คนธรรมดาก็สามารถเป็น Multipotentialite ได้

รู้แบบเป็ด x ชีววิทยา

ชีววิทยาก็มาผนวกกับการทำงานในชีวิตประจำวันเราได้เช่นกัน

เมื่อต้องปั่นงานดึกๆ จนเครียด คุณรู้สึกหิวอยากกินอะไรหวานๆ ขึ้นมา แต่คุณรู้ดีว่านี่อาการ ‘หิวหลอก’ เกิดจากความเครียด ซึ่งกระตุ้นสมองให้หลั่งสารเคมีบางอย่างเพื่อให้กิน ทั้งๆ ที่ร่างกายไม่ได้เสียพลังงานเลย (แต่คุณไม่รู้หรอกว่าสารเคมีชื่ออะไร ทำหน้าที่อื่นอะไรอีกบ้าง)

เมื่อคุณรู้ก็ยับยั้งใจตัวเองได้ จึงเลือกดื่มน้ำเปล่าแทนที่น้ำอัดลม แค่นี้ก็สามารถรักษารูปร่างร่างกายให้ดีอยู่ได้ควบคู่ไปกับการทำงานจนสำเร็จลุล่วง

รู้แบบเป็ด x บูรณาการความรู้

ความรู้แบบเป็ดยังต่อยอดไปสู่การบูรณาการความรู้ได้

100 กว่าปีที่แล้ว U.S. Steel Corporation คือบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกซึ่งทำธุรกิจอุตสาหกรรมเหล็กกล้า และเป็นเชื้อเพลิงในการสร้างตึกระฟ้าที่เริ่มขึ้นในชิคาโก ก่อนจะไปนิวยอร์ค และกระจายสู่ทุกเมืองใหญ่ของโลกในเวลาต่อมา 

หากสังเกตดีๆ บริษัทใหญ่สมัยก่อนมักทำธุรกิจด้านอุตสาหกรรมหนักไม่ว่าจะน้ำมัน ถ่านหิน เหมืองแร่ เคมีภัณฑ์ อุตสาหกรรมยานยานต์ ฯลฯ

แต่ปัจจุบัน Apple คือบริษัทที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลก ราว 68 ล้านล้านบาท…ซึ่งเป็นบริษัทเทคโนโลยี นอกจากนี้ในปี 2020 Top10 บริษัทที่ใหญ่ที่สุดในโลก…กว่าครึ่งหนึ่งก็เป็นบริษัทเทคโนโลยีเช่นกัน ซึ่งส่วนใหญ่มีอายุเพียง 20-30 ปีเท่านั้นเอง

เราพอจะเห็นแล้วว่า “กลุ่มบริษัทเทคโนโลยี” น่าจะเป็นอนาคตจากนี้

รู้แบบเป็ด x ประวัติศาสตร์

ความรู้ด้านเศรษฐกิจก็มาผนวกกับประวัติศาสตร์ได้เช่นกัน

สิ่งที่ฟังดูเหลือเชื่อสำหรับใครหลายคนคือ จีนเป็นประเทศที่มี GDP มากที่สุดในโลกมาตั้งแต่คริสต์ศตวรรษที่ 16 ต่อเนื่องนาน ‘หลายร้อยปี’ (แต่คุณไม่รู้เหตุผลลึกๆ ว่าเพราะอะไร) จนพึ่งมาเสียแชมป์ให้ประเทศเกิดใหม่อย่างสหรัฐอเมริกาในปี 1890 และเป็นเบอร์ 1 มาจนถึงปัจจุบัน

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีการคาดการณ์จากนักวิเคราะห์หลายฝ่ายว่า เศรษฐกิจของจีนจะมีขนาดใหญ่กว่าสหรัฐอเมริกาในปี 2028 ที่จะถึง

เมื่อเรารู้ความเป็นมาแล้ว จะเข้าใจว่าการที่จีนแซงหน้าอเมริกาไม่ใช่การ “โค่น” บัลลังค์ แต่เป็นการ “ทวงคืน” บัลลังค์กลับมาต่างหาก ซึ่งจาก ประวัติศาสตร์-จำนวนประชากร-ขนาดพื้นที่ประเทศ-และปัจจัยอื่นๆ จีนน่าจะดำรงตำแหน่งเบอร์ 1 ไปอีกนาน

ซึ่งสะท้อนสู่ทิศทางการดำเนินธุรกิจได้ไม่แพ้กัน เราอาจเปลี่ยนนโยบายหรือปรับทัศนคติให้ความร่วมมือกับจีน-ผูกมิตรกับจีนมากขึ้น

เรามีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับประวัติ GDP ของจีนไปแล้ว ก็อาจสงสัยและเชื่อมโยงไปเรื่องเศรษฐศาสตร์ที่เรียนมาว่า ตัวเลข GDP ไม่ใช่ทุกสิ่งทุกอย่างของประเทศ คุณเลยเริ่มค้นหาตัวเลข “รายได้ประชากรเฉลี่ยต่อหัว” ของประเทศต่างๆ ใน Google เพื่อ ‘เปรียบเทียบ’ ก่อนจะพบว่า

GDP ของจีนอาจใหญ่ที่สุดในโลก แต่เมื่อหารออกมาเป็น “รายได้ประชากรเฉลี่ยต่อหัว” แล้ว จีนอาจต้องใช้เวลาอีกหลายทศวรรษกว่าจะขึ้นสู่ประเทศร่ำรวยอย่างแท้จริง

ปัจจุบัน รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนจีนอยู่ที่ราว 308,000 บาท/ปี แต่การจะถูกจัดให้อยู่ในประเทศร่ำรวยที่พัฒนาแล้ว รายได้เฉลี่ยต่อหัวต้องมากกว่า 374,000 บาท/ปี 

ขณะที่ รายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวอเมริกัน ณ ปี 2019 อยู่ที่ราว 2,090,000 บาท/ปี มากกว่าจีนเกือบ 7 เท่า

แต่ของชาวอเมริกันก็ยังน้อยกว่ารายได้เฉลี่ยต่อหัวของชาวสวิส ซึ่งอยู่ที่ราว 2,690,000 บาท/ปี

เมื่อมองย้อนกลับมา รายได้เฉลี่ยต่อหัวของคนไทย ณ ปี 2019 อยู่ที่ราว 195,000 บาท/ปี จากข้อมูลที่หามาบอกคุณว่า ตัวเลขนี้พึ่งจะใกล้เคียงกับของชาวสวิสเมื่อปี 1851 (หลังปรับค่าเงิน) หรือเมื่อ 168 ปีที่แล้ว..

ทำไมถึงต่างกันขนาดนี้ ? 

คุณสังเกตว่า ประเทศที่พัฒนาแล้วทั้งหมดล้วนเป็นชาติอุตสาหกรรมที่มีเทคโนโลยีเป็นของตัวเองไม่ด้านใดก็ด้านหนึ่ง แม้สวิตเซอร์แลนด์จะเป็นประเทศเล็กๆ ประเทศน้อย และไม่มีพรมแดนติดทะเล…แต่กลับมีแบรนด์ยักษ์ใหญ่และเทคโนโลยีเป็นของตัวเองมากมาย

ไทยตอนนี้ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศ “รายได้ปานกลางระดับสูง” เศรษฐกิจประเทศเราพัฒนามาถึงจุดนี้ได้ด้วยการรับจ้างผลิตให้กับบริษัทข้ามชาติรายใหญ่ เช่น บริษัทรถยนต์และอิเล็กทรอนิกส์ แต่เราติดกับดักนี้มานานกว่า 20 ปีแล้ว การจะข้ามขั้นสู่ประเทศร่ำรวยจึงต้องใช้โมเดลอื่น 

แล้วทำยังไงเราถึงจะไปจุดนั้นได้ ? 

นี่คือความสนุกอย่างหนึ่งของการเป็นเป็ด Multipotentialite 

จากจุดเริ่มต้นที่ประวัติศาสตร์ GDP ของจีนแบบคร่าวๆ นำไปสู่การขบคิดว่าเมืองไทยจะกลายเป็นประเทศที่พัฒนาแล้วได้อย่างไร?

จากองค์ความรู้เดิมที่มีอยู่เล็กๆ เราเชื่อมโยงสู่ความรู้แขนงอื่น เกิดการ “บูรณาการหลายศาสตร์” เข้าด้วยกัน จนตกผลึกทางความคิดบางอย่าง เกิดการตั้งคำถามที่ดีที่นำไปสู่คำตอบที่ดี วนไปแบบนี้เรื่อยๆ ท้ายที่สุดเราอาจพบ Solution ใหม่ๆ (แม้จะไม่ได้เป็น Specialist ด้านใดเลยก็ตาม!)

.

.

มาถึงตรงนี้ เรารู้แล้วว่า Multipotentialite หรือการรู้แบบเป็ด มีความสำคัญมากแค่ไหน แม้รู้ทีละนิด-ทีละหน่อย แต่ถ้านำมาปะติดปะต่อ และ ‘อ่าน’ ออก มองเห็นถึงความสัมพันธ์ของเรื่องต่างๆ ในสิ่งที่คนอื่นมองไม่เห็น…เมื่อนั้นเราก็อาจนำหน้าคนอื่นไปไกลแล้ว

อยากรู้ว่าตัวเองมีความเป็น Multipotentialite มากน้อยแค่ไหน?

ลองไปทำ “แบบประเมินอาชีพ” โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ จาก CareerVisa เพื่อค้นหาความถนัด ‘หลายด้าน’ ที่คุณมี และทำ ‘หลายอย่าง’ อย่างมีความสุขกันเถอะ >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/


อ้างอิง

Author

  • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

Laura Vanderkam
ไม่มีคำว่า “ไม่มีเวลา” อีกต่อไปถ้าคุณมี Mindset แบบนี้ โดย Laura Vanderkam นักเขียนชื่อดังด้านการจัดการเวลา
สรุปวิธีคิดที่จะทำให้คุณ “มีเวลา” สำหรับสิ่งสำคัญในชีวิต โดยลอรา แวนเดอร์แคม (Laura Vanderkam) นักเขียนชื่อดังด้านการจัดการเวลา ผู้บรรยาย TED Talk ที่มียอดวิวหลายล้าน...
Vacation Blues
10 เคล็ดลับ "Bounce Back" สลัดอาการ "Vacation Blues" ให้หายเป็นปลิดทิ้ง!
อาการ “Vacation Blues” หรือความเศร้าหลังไปเที่ยวหยุดยาว เป็นอาการปกติที่เล่นงานคนทำงานอย่างหนักอึ้ง ซึ่งเกิดขึ้นกับคนทำงานหลายคนโดยเฉพาะช่วงหยุดยาว อย่างไรก็ตามการจมกับความเศร้าหลังเที่ยวไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก...
Harvard Business Review
ผลสำรวจพบเทรนด์ใหม่คนทำงาน เลือกใช้ AI ดูแลจิตใจแซงการทำงาน โดย Harvard Business Review
งานวิจัยจาก Harvard Business Review เพิ่งออกมา มีผลสำรวจพบว่าคนทำงานเปลี่ยนการใช้ AI จากเครื่องมือทำงาน มาเป็น “เพื่อนคู่ใจ” แทน สิ่งที่เปลี่ยนไปในปี...