Loss Aversion: ยิ่งกลัว ยิ่งหนี ยิ่งเสียมากกว่าเดิม

Loss Aversion
แม้มีเหตุผลที่ควรทำแต่ก็ไม่กล้าทำอะไรเพราะกลัวความสูญเสีย นี่คือหลุมพรางของมนุษชาติที่เรียกว่า “Loss Aversion”

Loss Aversion คืออะไร ?

Loss Aversion คือ พฤติกรรมมนุษย์ที่มัก “หลีกเลี่ยงการสูญเสีย” มากกว่า พยายามเสี่ยงที่จะได้อะไรมา ผลวิจัยเผยว่า การสูญเสียทรงพลังกว่าการได้รับถึง 2 เท่า จึงทำให้คนเรามองโลกในแง่ร้ายไว้ก่อน และทำให้เราอ่อนไหวต่อคำวิจารณ์มากกว่าคำชม (เพราะไม่อยากเสีย)

Daniel Kahneman นักจิตวิทยาชาวอเมริกันที่ได้รับรางวัลโนเบลสาขาเศรษฐศาสตร์ และเป็นผู้ที่ร่วมนิยามทฤษฎีนี้ให้เหตุผลที่เรียบง่ายมากว่า “คนเราเกลียดการสูญเสียมากกว่าดีใจกับการได้มา”

ที่เป็นเช่นนี้เพราะ คนเรา “ยึดติด” กับสิ่งของที่เรามี โดยเฉพาะถ้าสิ่งของนั้นเราเป็นคนทุ่มแรงสร้างมันมากับมือ เสียแรง-เสียเงิน-เสียเวลา (เข้าข่ายหลุมพราง The IKEA Effect) เราจะยิ่งเสียมันไปได้ยากยิ่งขึ้น

เรื่องนี้มีที่มาที่ไป มนุษย์วิวัฒนาการมาในทุ่งหญ้าสะวันนา ความเป็นอยู่ของมนุษย์ยุคโบราณนั้นเปราะบางมาก ความผิดพลาดแบบซื่อบื้อเพียงครั้งเดียว อาจนำความตายมาสู่ชีวิตเราได้ทันที (สะดุดล้มระหว่างวิ่งหนีเสือ) 

คนที่รอดชีวิตคือคนที่ระมัดระวังภัย คนกลุ่มนี้จะรอบคอบสุดๆ มักไม่เอาตัวเองไปเสี่ยงอันตราย จะหลีกเลี่ยงการสูญเสียทุกรูปแบบ…อุปนิสัยนี้จึงถูก “คัดเลือก” มา เพราะเมื่อคนกลุ่มนี้รอดชีวิต ก็มีโอกาสสืบพันธุ์และส่งต่อพันธุกรรมไปยังลูกหลานได้ในที่สุด

วิวัฒนาการหล่อหลอมให้มนุษย์ “กลัวเสียมากกว่าอยากได้” นั่นเอง

ลองพิจารณาตัวอย่างง่ายๆ นี้ดูก็ได้ มีกล่องจับฉลาก 2 กล่องให้เลือก

  • กล่องแรก: ได้เงิน 100,000 บาทชัวร์ๆ
  • กล่องที่สอง: อาจจะได้เงิน 200,000 บาท หรือ ไม่ได้อะไรเลย

คนส่วนใหญ่จะเลือกกล่องแรก…

นอกจากนี้ มีการทดลองหนึ่ง แจกโบรชัวร์ 2 แบบให้ผู้ป่วย 2 กลุ่ม เกี่ยวกับการตรวจหามะเร็งเต้านมด้วยตัวเอง (Breast Self-Examination หรือ BSE)

  • กลุ่มแรก ได้โบรชัวร์แบบที่ 1 เขียนว่า ผู้หญิงที่เข้ารับการตรวจ BSE มีโอกาสสูงขึ้นมาก ที่จะตรวจเจอและรักษาหายได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
  • กลุ่มที่สอง ได้โบรชัวร์แบบที่ 2 เขียนว่า ผู้หญิงที่ไม่ได้เข้ารับการตรวจ BSE มีโอกาสน้อยลงมาก ที่จะตรวจเจอและรักษาหายได้ทันท่วงที

การติดตามสัมภาษณ์หลังจากนั้นพบว่า ผู้ป่วยกลุ่มที่สอง มีการตื่นตัวรับรู้ถึง BSE สูงกว่ากลุ่มแรก แบบมีนัยยะสำคัญ แม้ทั้ง 2 โบรชัวร์เหมือนกัน แต่การเปลี่ยนข้อความ “เน้นย้ำถึงการสูญเสีย” กลับได้ผลกระทบที่สูงกว่า

Loss Aversion รอบตัวเรา

เหล่าคาสิโนยักษ์ใหญ่ที่ลาสเวกัส เปลี่ยนการพนันที่แลกเปลี่ยนด้วยเงินทองจริงๆ ให้กลายเป็น “ชิป” ทำให้คนเล่นมองว่ามันเป็นเกม ไม่ได้รู้สึกว่าใช้เงินจริงๆ จึงเต็มใจที่จะเล่นต่อไป นอกจากนี้ยังมี “รางวัล” ในรูปแบบน้ำฟรีไม่อั้น บริการรถรับส่ง อภินันทนาการต่างๆ เป็นตัวปลอบใจลูกค้าที่แพ้ไม่ให้รู้สึกแย่ไปกว่านั้น

Loss Aversion อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของบริษัทประกันชีวิตทั่วโลก มันทรงพลังขนาดทำให้คนเรายอมจ่ายค่าประกันแพงๆ ติดต่อกันเป็นสิบๆ ปีให้กับบริษัทประกันชีวิต แม้ว่าโอกาสที่เราจะเสียชีวิตมีน้อยมาก 

เงินในพอร์ตหุ้นที่ “ยังไม่ realized” เราเก็บต่อไป ฝันลมๆแล้งๆ หวังให้ทุกอย่างดีขึ้น แม้ว่าสถานการณ์จริง ทุกอย่างมีแต่จะเลวร้ายลงเรื่อยๆ

เศรษฐีพันล้านคนหนึ่งกำลัง “อารมณ์เสียรุนแรง” เพราะดันทำเงินตกหาย 5,000 บาท เมื่อมาคิดดูดีๆ อารมณ์โกรธของเค้าอาจ ‘ไม่จำเป็น’ เลย เพราะมูลค่าเงินในพอร์ตหุ้นของเศรษฐีพันล้านท่านนี้ ผันผวนหลักหมื่นแทบทุกวินาที

รถยนต์ก็เป็นอีกตัวอย่างที่ชัดเจน ถ้าปัจจุบันคุณขับ D-segment อยู่ (เช่น Toyota Camry) การเปลี่ยนรถใหม่ในอนาคตจะมีแนวโน้มซื้อรถที่แพงขึ้น…หรืออย่างน้อยจะไม่ต่ำไปกว่า D-segment 

เรื่องนี้เกิดขึ้นกับผู้บริโภคทั่วโลก โดยมี Loss Aversion ทำงานอยู่เบื้องหลัง เพราะการซื้อรถ C-segment ที่คลาสต่ำลงมา (เช่น Toyota Altis) นั่นหมายถึงคุณ “สูญเสีย” ความสะดวกสบายที่มากกว่า สมรรถนะเครื่องยนต์ที่แรงกว่า ภาพลักษณ์ที่เหนือกว่าของ D-segment ไป…เหตุผลด้านสูญเสียจะเกทับเหตุผลด้านดีจนหมด

ปรับใช้กับธุรกิจยังไงได้บ้าง ?

ไฮไลท์ว่าผลิตภัณฑ์ของคุณช่วยให้ลูกค้าไม่ต้อง “สูญเสีย” อะไรไปบ้าง โฟกัสที่การเสียมากกว่าได้ (เหมือนที่การตรวจ BSE ใช้) เพราะการกลัวเสียกระตุ้นให้คนเปลี่ยนพฤติกรรมได้มากกว่าการได้รับ แถมยังปรับใช้กับ Copywriting ได้ด้วย เช่น แทนที่จะใช้คำว่า “Gain” เปลี่ยนไปใช้ “Save”

เราอาจเสนอ “ทดลองใช้ฟรี” ในระยะเวลาหนึ่งเพื่อให้ลูกค้าได้ใช้ไปก่อน เมื่อคนใช้เริ่มติดก็ไม่อยากสูญเสีย เช่น Netflix ก็ให้ลองดูฟรีได้เวลาสั้นๆ ก่อนต้องเสียเงินเพื่อดูต่อ…ซึ่งผู้คนก็เต็มใจกัน (นโยบาย “ไม่พอใจยินดีคืนเงิน” ก็มาจากเรื่องนี้เหมือนกัน)

หรือการทำ “Freemium” มีฟังก์ชั่นให้ลูกค้าใช้ฟรีได้ถึงจุดหนึ่ง(มักจะไม่ครอบคลุมนัก) ถ้าอยากปลดล็อคใช้งานได้ครอบคลุมกว่านั้น ก็ต้องจ่ายเงินเพิ่ม

ตั้ง “Deadline” กรอบเวลาขึ้นมา ถ้าเลยเวลานั้นไปแล้ว ลูกค้าจะพลาดสิทธิพิเศษต่างๆ นี่เป็นวิธีที่ Amazon ใช้บนเว็ปไซด์เวลาลูกค้าเลือกซื้อของ จะมีขึ้นตัวหนังสือเล็กๆ เช่น “Ends in 2h 5m 10s”

การสร้างบรรยากาศ “Scarcity” ว่าสินค้าเหลือน้อยเต็มทีแล้ว ก็เป็นอีกวิธียอดฮิตที่ใช้กระตุ้น Loss Aversion เช่น “เหลือแค่ 3 ชิ้นสุดท้าย!” / “ของมีจำกัด รีบซื้อ หมดแล้วหมดเลย!”

ในแง่การลงทุน ต้อง “ตั้งกฎซื้อขายให้ชัดเจน” และมีวินัยกับมัน เช่น หากขาดทุนเกิน 10% ให้ Cut Loss ขายหุ้นนั้นทิ้งทันที!

ในฐานะผู้นำองค์กร เราต้องเข้าใจมุมมองของพนักงานด้วย 

ผู้นำมักกระตุ้น(+กดดัน) ให้พนักงานมีความคิดสร้างสรรค์ กล้าเสี่ยง ลองผิดลองถูก…แต่พวกเค้าเป็นกลุ่มคนที่สุ่มเสี่ยงต่อ Loss Aversion สูงที่สุดก็ว่าได้ 

ในมุมมองของพนักงานจะคิดว่า ทำไมพวกเค้าต้องกล้าเสี่ยงอะไรใหม่ๆ ด้วย ในเมื่อถ้าสำเร็จก็ได้โบนัสหรือได้รับการโปรโมท แต่ถ้าล้มเหลวก็อาจถึงขั้นโดนไล่ออก ตกงานชีวิตพลิกผัน…เพลย์เซฟอยู่กลางๆ ไม่ดีกว่าเหรอ?

โดยทั่วไป การปกป้องตำแหน่งและสถานะตัวเอง มักมีค่าเหนือกว่ารางวัลอันน่าเย้ายวนใดๆ 

ผู้นำองค์กรจึงต้องออกแบบกลไกที่ป้องกันเรื่องนี้ อาจสร้างวัฒนธรรม “เฉลิมฉลองความล้มเหลว” เวลาพนักงานลองอะไรใหม่ๆ แล้วไม่เป็นไปตามฝัน อย่างน้อยเรารู้แล้วว่าวิธีนี้ไม่เวิร์ค วิธีอื่นอาจจะเวิร์ค…ขอแค่เป็นความผิดพลาดที่ได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ 

.

.

และถ้าคุณไม่อยากทำงานที่ไม่ชอบ ไม่อยากอยู่แบบห่อเหี่ยวไร้ Passion ก็ให้รีบเข้าไปทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa แต่เนิ่นๆ เพื่อรีบค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ และมีความสุขกับการทำงานในทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/

อ้างอิง

Author

  • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

Laura Vanderkam
ไม่มีคำว่า “ไม่มีเวลา” อีกต่อไปถ้าคุณมี Mindset แบบนี้ โดย Laura Vanderkam นักเขียนชื่อดังด้านการจัดการเวลา
สรุปวิธีคิดที่จะทำให้คุณ “มีเวลา” สำหรับสิ่งสำคัญในชีวิต โดยลอรา แวนเดอร์แคม (Laura Vanderkam) นักเขียนชื่อดังด้านการจัดการเวลา ผู้บรรยาย TED Talk ที่มียอดวิวหลายล้าน...
Vacation Blues
10 เคล็ดลับ "Bounce Back" สลัดอาการ "Vacation Blues" ให้หายเป็นปลิดทิ้ง!
อาการ “Vacation Blues” หรือความเศร้าหลังไปเที่ยวหยุดยาว เป็นอาการปกติที่เล่นงานคนทำงานอย่างหนักอึ้ง ซึ่งเกิดขึ้นกับคนทำงานหลายคนโดยเฉพาะช่วงหยุดยาว อย่างไรก็ตามการจมกับความเศร้าหลังเที่ยวไม่ใช่เรื่องที่ดีนัก...
Harvard Business Review
ผลสำรวจพบเทรนด์ใหม่คนทำงาน เลือกใช้ AI ดูแลจิตใจแซงการทำงาน โดย Harvard Business Review
งานวิจัยจาก Harvard Business Review เพิ่งออกมา มีผลสำรวจพบว่าคนทำงานเปลี่ยนการใช้ AI จากเครื่องมือทำงาน มาเป็น “เพื่อนคู่ใจ” แทน สิ่งที่เปลี่ยนไปในปี...