- ที่มาของ “ไทยมุง” มัวแต่ยืนดู…แต่ไม่มีใครช่วย
- สาเหตุที่บริษัทเปลี่ยนแปลงยาก แม้ทุกคนจะรู้หน้าที่
- พนักงานทุกคนรู้ปัญหาดี แต่ทำไมไม่มีใครพูดเปิดประเด็น?
เหตุการณ์น่าเป็นห่วงเหล่านี้มีสาเหตุทางจิตวิทยาเหมือนกันที่เรียกว่า “Bystander Effect”
Bystander Effect สาเหตุที่ พนักงานไม่บอกปัญหาให้บริษัทรู้
Bystander Effect คือภาวะที่ถ้าคุณอยู่ตัวคนเดียวและเจอเหตุการณ์ไม่ดีตรงหน้า…คุณมีแนวโน้มจะยื่นมือช่วยเหลือเต็มที่ แต่ ถ้าคุณอยู่กับคนอื่นอีกหลายคนและเจอเหตุการณ์ไม่ดีตรงหน้า…กลับมีแนวโน้มที่จะ “ไม่มีใคร” ช่วยเลย!!
เรื่องนี้ขัดแย้งกับตรรกะ Common Sense คนส่วนใหญ่ที่คิดว่า “ยิ่งคนเยอะ-ยิ่งช่วยได้ง่ายขึ้น” กลับกลายเป็น…
- ยิ่งคนเยอะ = ยิ่งมีโอกาสช่วยน้อย
- ยิ่งคนน้อย = ยิ่งมีโอกาสช่วยเยอะ
เรื่องนี้มีคำอธิบายทางจิตวิทยา Dacher Keltner ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจาก University of California เผยว่าสาเหตุเป็นเพราะ ยิ่งผู้พบเห็นเหตุการณ์ (Bystander) เยอะมากเท่าไร “ความไม่ชัดเจนในความรับผิดชอบ” (Unclear responsibility) ยิ่งทวีคูณมากขึ้นเท่านั้น!!
เพราะ Bystander แต่ละคนก็จะคิดว่า
- “ถ้าเราไม่ช่วย…เดี๋ยวคนอื่นแถวนี้ก็ช่วยเองแหล่ะ”
- “คนเห็นตั้งเยอะแยะ สุดท้ายต้องมีซักคนในนี้นี่แหละที่ช่วย”
- “อ้าว แล้วทำไมผมต้องช่วย คุณก็อยู่ในเหตุการณ์ทำไมไม่ช่วยล่ะ?”
สรุปคือ ไม่มีใครอยากเข้าไป “ยุ่งเกี่ยว” เพราะผู้พบเห็นแต่ละคน “สันนิษฐาน” ว่าเดี๋ยวก็คงจะมีคนอื่นซักคนที่ยื่นมือไปช่วยเองแหล่ะ
อีกเหตุผลคือ ผู้พบเห็นจะดู “ปฏิกิริยา” ของแต่ละคน เมื่อยังไม่มีใครก้าวออกมาข้างหน้า ก็จะยังไม่มีใครทำตามกัน ทุกคนรอดูท่าทีแต่ละคน สุดท้ายกลายเป็นไม่เกิดอะไรขึ้น เกิดเป็นปรากฎการณ์ที่เรียกว่า “พฤติกรรมเมินเฉยร่วมกัน” (Pluralistic ignorance)
Bystander Effect รอบตัวเรา
ภาวะโลกร้อน (Global warming) คือปัญหาใหญ่แห่งศตวรรษที่ 21 แต่บริษัทส่วนใหญ่ก็ยังไม่ปรับตัวอย่างจริงๆ จังๆ เพราะผู้เล่นในอุตสาหกรรมยังไม่ปรับตัวตาม
และแม้แต่ผู้บริโภคเองก็ยังไม่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้รักษ์โลกมากขึ้น เพราะมองว่าประชากรบนโลกมีตั้ง 7.7 พันล้านคน…เราไม่ทำคนเดียวคงไม่เป็นอะไรมากหรอก
หรือการที่พนักงานบริษัทหลายคนต่างรู้ปัญหาลับลมคมใน แต่ไม่มีใครพูดเปิดประเด็นซักคน เพราะต่างคนต่างไม่อยากรับความเสี่ยง และคิดว่าเดี๋ยวปัญหานี้ก็ “คงมีคนแก้เอง” ในที่สุด
ในโลกโซเชียลมีเดีย แม้โพสหนึ่งเนื้อหามีคุณภาพ แต่ถ้าพบว่าดันมีคน Like-Comment-Share น้อยผิดปกติ คนดูส่วนใหญ่ก็จะแค่อ่านผ่านๆ แต่ไม่กดไลค์-ไม่แชร์
โฮมเลสที่นั่งขอรับเงินบริจาคเพื่อไปซื้อข้าวประทังชีวิต ณ ถนนช็อปปิ้งใจกลางเมือง สมมติถ้าแทบไม่มีใครบริจาคเลย ผู้คนต่างเดินผ่านไม่มีใครสนใจ คนอื่นๆ ก็มีแนวโน้มไม่บริจาคเช่นกัน
เมื่อรถยนต์เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำบนท้องถนน ผู้พบเห็นเหตุการณ์ละแวกมารวมตัวกันเกิดเป็น “ไทยมุง” แต่กลับไม่มีใครยื่นมือเข้าช่วยอย่างที่ควรจะเป็น เช่น โทรแจ้งรถพยาบาลฉุกเฉิน หรือ รีบเข้าไปปฐมพยาบาลผู้บาดเจ็บ
แนวทางป้องกัน Bystander Effect
ผู้นำองค์กรมีส่วนอย่างมากในการสร้าง “วัฒนธรรมองค์กร” ที่เวลามีปัญหาเมื่อไร พนักงานเต็มใจที่จะ voice up พูดขึ้นมาทันที ผู้นำต้องสื่อสารให้เคลียร์ว่านี่เป็นสิ่งที่เหมาะสม ไม่มีประเด็นไหนผิด ไม่มีใครดูไม่ฉลาด ขอให้พูดขึ้นมาแล้วค่อยมาช่วยกันหาทางแก้
Equal Employment Opportunity Commission (EEOC) ของสหรัฐอเมริกา แนะนำว่า บริษัทควรออกแบบ “Bystander Intervention Training” คอร์สสั้นๆ ที่อบรมและแนะนำ Protocol วิธีปฏิบัติ 1-2-3-4 ให้แก่พนักงานเมื่อเกิดปัญหาต่างๆ
เช่น ถ้าพบเห็น Workplace harassment สามารถแจ้งใครได้บ้าง และทำยังไงตัวเองถึงจะไม่มีความเสี่ยง เช่น อาจเป็นการรายงานที่ไม่เปิดเผยตัวตน (Anonymous reporting)
กรณีนี้จะเกี่ยวข้องกับผู้บริหารที่ต้องให้ “อำนาจ” ฝ่าย HR เพราะมีหน้าที่ในการบริหารจัดการเรื่องนี้โดยตรง ถ้าทรัพยากรมากพอ อาจมีจัด One-on-one meeting เพื่อค้นหาปัญหาซ่อนเร้น
และในระดับปัจเจก เราทุกคนควรฝึกความมี Empathy ติดตัวไว้ เผื่อแผ่ความเมตตาให้ผู้อื่น แคร์คนอื่นในสังคมมากขึ้น
เพราะสุดท้ายเมื่อกลายเป็นตัวคุณเองที่เป็น “เหยื่อผู้เคราะห์ร้าย” คุณเองก็อยากได้รับความช่วยเหลือจากผู้อื่นเช่นกัน…จริงไหม?
.
ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/
ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com
ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/
อ้างอิง
- https://hbr.org/2019/01/why-open-secrets-exist-in-organizations
- https://simplicable.com/en/social-loafing
- https://www.marketplace.org/2017/10/26/workplace
- https://www.pcma.org/
- https://theconversation.com/-online-27496