Backfire Effect : เมื่อความจริง…ไม่ชนะเสมอไป

Backfire Effect
“Global warming เป็นเรื่องโกหก”“คนจนเพราะขี้เกียจ ไม่ขยัน เอาแต่กินเหล้า”“ยอดขายตก เพราะวิกฤติเศรษฐกิจล้วนๆ ไม่เกี่ยวกับสินค้า”แม้คุณได้รู้ข้อมูลความจริงอีกด้านแล้ว แต่ก็ยังดื้อรั้นเชื่อในชุดความคิดเหล่านี้ที่เข้าข้างตัวเองอยู่…คุณอาจติดกับดัก Backfire Effect เข้าให้แล้ว!!

Backfire Effect เมื่อความจริงไม่ช่วยอะไรเลย

Backfire Effect เกิดเมื่อความคิด-ความเชื่อที่ฝังรากลึกของคุณ (Pre-existing belief) ถูกท้าทาย-วิพากษ์วิจารณ์ (หรือแม้แต่หักล้าง) ด้วยข้อมูลหลักฐาน “ความจริงใหม่” 

แล้วคุณเกิดรับไม่ได้-เกิดต่อต้าน จนแทนที่จะเปลี่ยนความเชื่อ…แต่กลับหันหลังให้ และยิ่ง “จมปลักเชื่อ” ในสิ่งเดิม(ที่ผิด) นั้นเข้าไปอีก!! 

…นี่คือคาแรคเตอร์ของ Backfire Effect ภาวะที่ความจริงไม่ช่วยอะไรเลย

Backfire Effect อาจทำให้อีกฝ่ายที่พยายามโน้มน้าวคุณด้วยชุดข้อมูลใหม่ที่ถูกต้อง เกิดปฏิกิริยา “มองบน” เอิ่มมมม และทำให้ตัวคุณเองในฐานะผู้นำองค์กร ตัดสินใจผิดๆ จนอาจบานปลายทุกอย่างสายเกินไปแล้ว

สาเหตุของ Backfire Effect ?

Backfire Effect เป็นอคติทางความคิดอย่างหนึ่ง (Cognitive bias) และที่สำคัญไม่แพ้กันคือ เป็นกลไกป้องกันตัวตามธรรมชาติของมนุษย์ และทำงานในระดับนอกจิตสำนึก (Subconscious level) เพราะไม่มีใครอยากเป็นฝ่ายผิด คนที่ผิดในยุคสมัยก่อน อาจถูกลงโทษด้วยการขับไล่ออกจากเผ่า ซึ่งโอกาสรอดชีวิตในธรรมชาติถือว่าน้อยมาก

Dan Ariely นักเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมชื่อดังบอกว่า เรื่องนี้ไม่มีอะไรต้องเซอร์ไพรส์เลย เพราะมนุษย์เป็น “สิ่งมีชีวิตที่ไม่มีเหตุผล…ที่คิดว่าตัวเองมีเหตุผล” เพราะอันที่จริงแล้วคนเราใช้ “อารมณ์” มากกว่าด้วยซ้ำในการตัดสินใจหรือเชื่ออะไรบางอย่าง

ไม่ต่างจากงานขาย ผู้บริโภคไม่ได้ซื้อสินค้าหนึ่งเพราะเห็นโฆษณาเพียงครั้งเดียว แต่เรารู้กันดีว่ามันมีหลายขั้นตอน (Customer journey) ก่อนที่ลูกค้าจะตัดสินใจซื้อ เช่น กระบวนการ AIDA

  • Awareness – รับรู้
  • Interest – เริ่มสนใจ ค้นหาข้อมูล
  • Desire – เกิดความอยากโหยหา
  • Action – ลงมือซื้อ

ในทางกลับกัน การเปิดใจรับชุดความคิดใหม่ที่ถูกต้องก็เช่นกัน เราต้องผ่านหลายขั้นตอน / หลายกระบวนการขบคิด / หลายหลักฐานน่าเชื่อถือ / หลายผู้คนที่โน้มน้าวใจ…ก่อนที่เราจะสลัดทิ้งความคิด-ความเชื่อเดิมนั้นลงได้ในที่สุด

Backfire Effect รอบตัวเรา ?

จากคาแรคเตอร์ของอาการ เราจะพบว่าเหตุการณ์แบบนี้มีโอกาสเกิดขึ้นได้กับทุกเรื่องและทุกคน (คุณเองก็น่าจะเคยเป็นซักครั้งหนึ่งในชีวิต!) ทั้งการลงทุนในธุรกิจ / ความเข้าใจด้านชีววิทยา / มุมมองด้านดาราศาสตร์ / การเลือกฝ่ายทางการเมือง ฯลฯ

Donald Trump เคยออกมากล่าวว่า เค้าไม่เชื่อเรื่องปัญหาภาวะโลกร้อน (Global warming) ทั้งๆ ที่นักวิทยาศาสตร์ทั่วโลกต่างออกมายืนยันแล้วว่านี่เป็นเรื่องจริงที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากนานาชาติโดยด่วน 

และทาง UN ก็มีมติตั้งเป้าหมายไม่ให้อุณหภูมิโลกสูงเกิน “1.5 องศาเซลเซียส” เมื่อถึงปี 2050 มิเช่นนั้น ระบบนิเวศน์อาจถึงจุดที่เลวร้ายจนอะไรๆ หวนกลับคืนมาไม่ได้อีกแล้ว (Irreversible tipping points)

คนระดับประธานาธิบดีประเทศมหาอำนาจออกมาพูดแบบนี้ ย่อมส่งผลต่อความคิดมวลชนอีกหลายล้านคนให้คล้อยตามจนละเลยปัญหานี้ 

ปริมาณการปล่อย CO2 ต่อคน/ปี ในแต่ละประเทศ​ (CO2 emissions per Capita)

  • อินเดีย 1.9 ตัน/คน
  • จีน 8 ตัน/คน
  • อเมริกา 16 ตัน/คน

ปัญหาความยากจน ที่หลายคนเชื่อว่าเกิดจากความขี้เกียจ ไม่ขยันทำมาหากิน แท้จริงแล้วมีผลวิจัยและสถิติมากมายที่ออกมาสนับสนุนแล้วว่า มาจาก “ปัญหาเชิงโครงสร้าง” ที่กดทับคนบางกลุ่มไม่ให้ลืมตาอ้าปากได้ต่างหาก เช่น 

  • เข้าถึงแหล่งเงินทุนไม่ได้ 
  • ค่าแรงขั้นต่ำที่ไม่เป็นธรรม
Backfire Effect

หรือในทางการเมือง นักวิจัยจาก University of Chicago เผยว่า บางครั้งการนำเสนอข่าวแง่ลบ(แต่เป็นเรื่องจริง) ของนักการเมืองที่ชื่นชอบ…กลับทำให้คนนั้นยิ่งสนับสนุนมากขึ้นเข้าไปใหญ่!! 

ด้วยเหตุผล Backfire Effect และความรู้สึกที่ว่านักการเมืองคนนั้นดูเรียลดี (ไม่มีใครเพอร์เฟ็กต์ไปซะทุกอย่าง)

การที่มีพนักงานขายมาพูดจาโน้มน้าวให้บริษัทคุณ “ย้ายค่าย” เปลี่ยนไปใช้บริการอีกบริษัทนึง ก็สามารถกระตุ้น Backfire Effect ไม่ยอมย้ายค่าย ได้เช่นกันถ้าบริการที่คุณใช้อยู่ตอบโจทย์ระดับนึงแล้ว

Backfire Effect

ป้องกันยังไงได้บ้าง ?

ทำตัวเป็นนักโบราณคดี (Archaeologist) กล่าวคือ สมมติฐานและทฤษฎีทางประวัติศาสตร์ที่มีอยู่ ณ ปัจจุบัน จะมีเหตุผลรองรับมาจากชิ้นส่วน “ซากฟอสซิล” ที่ขุดพบเจอตามที่ต่างๆ ทั่วโลก

แต่ทุกสมมติฐานและทฤษฎีที่มีอยู่…ไม่ใช่ “ความจริงแท้ตลอดกาล” (Universal truth) แต่พร้อมเปลี่ยนแปลงได้เสมอเมื่อขุดพบเจอซากชิ้นส่วนโบราณใหม่ๆ ซึ่งชิ้นส่วนที่ถูกค้นพบใหม่ อาจมาต่อยอด หรือ “หักล้าง” สิ่งที่เคยเข้าใจมาตลอดก็ได้ทั้งนั้น

และวิธีที่ช่วยให้เรายอมรับสิ่งใหม่ๆ ได้ง่ายขึ้นก็คือการ “ตั้งคำถาม” สงสัยบ่อยๆ ลองใช้เทคนิค 5W1H (What-When-Where-Why-Whom-How) จะช่วยให้มองเห็นภาพรวมได้มากขึ้น

Nick Bostrom นักปรัชญาชาวสวีเดนจาก Oxford University เผยว่า ทุกสิ่งทุกอย่างที่เรารับรู้ต้องคอย “อัพเดท” อยู่เสมอไม่ต่างจากแอปบนมือถือ เมื่ออัพเดท…เราจะพบกับองค์ความรู้ใหม่ๆ

  • มนุษย์เคยคิดว่าโลกแบน (ภูมิศาสตร์)
  • ดาวพลูโตเคยเป็นส่วนหนึ่งของระบบสุริยะ (ดาราศาสตร์)
  • มนุษย์เคยเชื่อว่าฟ้าผ่าคือการลงโทษจากพระเจ้า (ไสยศาสตร์)
  • มนุษย์เคยคิดว่าทารกไม่ใช่ผ้าขาว ต้องคอยตีและก่นด่าเมื่อร้องไห้ (จิตวิทยาเด็กเล็ก)

และในฐานะผู้นำองค์กร ต้องสร้างวัฒนธรรมด้านบวก ไม่เอาความผิดพลาดของพนักงานมาบุลลี่ แต่ให้มองว่าเขาได้เรียนรู้และผ่านจุดนั้นมาแล้ว (ไม่มีใครอยากยอมรับว่าตัวเองผิด)

  • “อ้าว…นี่เราเข้าใจผิดมาโดยตลอดหรือนี่!!”
  • “สมัยก่อนผมเคยคิดอีกแบบนึง” (I was once thought differently.)
  • ผม “เคย” เชื่อว่า… (I used to believe…)
  • ตอนนี้ “ตาสว่าง” แล้ว

จะว่าไปแล้วมันก็คล้ายกับการละทิ้งเลิกเรียนรู้ (Unlearn) สิ่งเก่าๆ และน้อมรับสิ่งใหม่ ซึ่งนี่จะเป็นสกิลที่สำคัญมากในยุคนี้ที่ทุกอย่างช่างเปลี่ยนแปลงไปเร็วเหมือนโกหก

โลกธุรกิจยังต้องการคนแบบนี้…

.

.

ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ…จะได้มีความสุขในการทำงานทุกๆ วัน >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/

ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com

ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/


อ้างอิง

Author

  • รวบรวมและแลกเปลี่ยนข้อมูลเพื่อการพัฒนานอกกรอบของคนทำงาน

Related   Articles

openai
ข่าวดี! OpenAI Academy เปิดให้เรียนรู้ AI ฟรีแล้ววันนี้!
CareerVisa ขอแนะนำแพลตฟอร์มใหม่จาก OpenAI ที่เปิดโอกาสให้ทุกคน ไม่ว่าจะเป็นนักเรียน ครู ผู้ประกอบการ หรือผู้ที่สนใจทั่วไปก็สามารถเรียนรู้และใช้งาน AI ได้อย่างมั่นใจ...
discipline
ฝึกตัวเองให้มีวินัยขั้นสุดยอด อย่างเป็นวิทยาศาสตร์ได้ด้วยสิ่งนี้ โดย Andrew Huberman
สำหรับใครที่รู้สึกว่าควบคุมตัวเองไม่ค่อยได้ ไม่มีวินัยเอาซะเลย วันนี้ CareerVisa จะมาเล่าให้ฟังแบบบ้านๆ เรื่องอยากมีวินัย (discipline) ให้ฟังว่าทำยังไงถึงจะฝึกวินัยได้แบบเป็นวิทยาศาสตร์...
Kelly McGonigal
"เครียดยังไงให้กลายเป็นพลังบวก" สรุปแนวคิดจาก Kelly McGonigal นักจิตวิทยาด้านสุขภาพและผู้เขียนหนังสือ "The Upside of Stress"
วิธีคิดเกี่ยวกับการเปลี่ยนมุมมองต่อความเครียดเพื่อใช้มันเป็นเครื่องมือในการพัฒนาตัวเอง 1. มองความเครียดเป็นพลัง ความเครียดไม่ใช่สิ่งที่ต้องกลัว การเชื่อว่าความเครียดช่วยเตรียมร่างกายและจิตใจให้พร้อมรับมือความท้าทาย...