เพราะบริษัทยึด Makoto Marketing เป็นหัวใจในการทำธุรกิจ การตลาดนี้ยังเป็นแก่นของอีกหลายธุรกิจที่เดี๋ยวเราจะได้รู้กัน
Makoto Marketing การตลาดใช้ใจขาย ลูกค้าใช้ใจซื้อ
โดยปกติ การบริหารธุรกิจจากโลกฝั่งตะวันตกในกระแสหลัก จะมุ่งเน้นที่การ “ทำกำไรสูงสุด”
- เร่งขยายกิจการให้โตเร็วที่สุด
- พนักงานคนไหน Performance ไม่ดี หรือทำผิดพลาดก็ไล่ออก หาคนใหม่มาแทน
- สิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องรอง ยอดขายเป็นเรื่องหลัก
แต่ Makoto Marketing ดูจะให้ความสำคัญกับคุณค่าที่อยู่ขั้วตรงข้าม
โดย “Makoto” มาจากภาษาญี่ปุ่นที่แปลว่า “ความจริงแท้ จริงใจ ไม่ปรุงแต่ง”
Makoto Marketing จึงเป็นการตลาดที่ใช้ใจบริสุทธิ์ในการดำเนินธุรกิจ ซื่อสัตย์กับทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง นำเสนอคุณค่าที่เป็นแก่นสาร
ที่สำคัญ ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า Makoto Marketing ไม่ได้ “ปฏิเสธ” การตลาดพื้นฐานอย่าง 4P / STP / SWOT และไม่ได้ปฏิเสธระบบทุนนิยม แต่อยู่ร่วมกันได้อย่างกลมเกลียว
ยังคงน้อมรับหลักการดั้งเดิมมาใช้ หากแต่มีแก่นหลักเป็น “ใจ” มีความละเมียดละไมในการคิดวิเคราะห์ ใส่ใจ จริงใจกับลูกค้าเป็นแก่นหลักที่สุด
จากจุดเริ่มต้นแบบเดิม
- การเติบโตก้าวกระโดด สู่ การเติบโตแบบยั่งยืน
- บริษัทเราเป็นเจ้าใหญ่ผูกขาด สู่ การโตไปพร้อมกันกับคนอื่นในวงการ
- หาลูกค้าใหม่เยอะๆ สู่ หาลูกค้าแค่คนเดียว แต่ซื้อซ้ำ 100 ครั้ง
- รวยเร็ว ไม่แคร์สิ่งแวดล้อม สู่ รวยแบบพอดี สิ่งแวดล้อมยังอยู่
- ทำแล้วกำไรลด…ไม่ทำ สู่ แม้กำไรลด แต่ถ้าผู้อื่นมีความสุขขึ้น…ก็ทำอยู่ดี
ตัวอย่างธุรกิจที่น่าสนใจ
BALMUDA นิยามตัวเองเป็น “บริษัทครีเอทีฟเทคโนโลยี” (ไม่ใช่ผู้ผลิตอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์)
เดิมผลิตสินค้าไฮเทคที่สะดวกสบาย แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจปี 2008 บริษัทก็เจ็บตัวพอสมควร ประธานบริษัทจึงกลับมาทบทวนตัวเอง พบว่าลึกๆ แล้วสินค้านั้นมีความฉาบฉวย ไม่ใช่สิ่งของที่ผู้คนต้องการจริงๆ หากผลิตของที่คนต้องการจริงๆ ยอดขายจะไม่พังขนาดนี้
เมื่อคิดได้เช่นนั้น จึงเปลี่ยนไปยึด “ประสบการณ์” ของผู้ใช้งานเป็นที่ตั้ง เกิดเป็นหลากหลายผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จถล่มทลาย ชื่อเสียงดังมาไกลถึงเมืองไทย
- เช่น เครื่องปิ้งขนมปัง BALMUDA The Toaster ที่มีหลากหลายโหมดให้เลือกสอดคล้องกับหลากหลายโอกาสการกิน เช่น โหมดกรอบนอกนุ่มใน / โหมดครัวซองค์ / โหมดขนมปังฝรั่งเศส
- พัดลม The Green Fan พัดลมใบพัด 2 ชั้น ที่ให้ลมเย็นสบายแบบธรรมชาติที่สุด และเสียงเบามากเพียงแค่ 13 เดซิเบล เหมาะกับเปิดอ่านหนังสือ
- โคมไฟตั้งโต๊ะ BALMUDA The Light สร้างจากแนวคิด “แสงที่ปกป้องดวงตาเด็กๆ” พร้อมฟีเจอร์ที่เหมาะกับการนั่งใช้งานของเด็กๆ
เมื่อออกแบบโดยโฟกัสถึงผู้ใช้งานอย่างแท้จริง ปรากฏว่ากลับขายดีเป็นเทน้ำเทท่ากว่าที่เคยผ่านมาทั้งหมด!! โดยเฉพาะเครื่องปิ้งขนมปังราคาเป็นหมื่นบาท (แพงกว่าท้องตลาด 8 เท่า) แต่กลับมียอดขายทะลุ 100,000 เครื่อง และดังไกลมาถึงเมืองไทยแล้ว!!
.
.
Nakamichi Hiroshi เชฟชาวญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญอาหารฝรั่งเศส เจ้าของร้านอาหารมิชลิน 3 ดาวในซัปโปโร เขาเองเติบโตที่ฮอกไกโด
Image Cr. bit.ly/3hXF5NN
วันหนึ่งเขาถูกทาบทามจากผู้ใหญ่บ้านเมืองชนบทอย่าง Makkari ในฮอกไกโดให้ไปเปิดร้าน เพราะอยากสร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ โดยหมู่บ้านจะใช้เงินกองกลางสร้างให้ ซึ่งก็ชวนตั้งคำถามไม่น้อยถึงโอกาสประสบความสำเร็จ เพราะอยู่ในพื้นที่ห่างไกลเหลือเกิน (ใครจะขับรถมากินถึงนี่)
แต่แล้วเมื่อเขาได้มาสำรวจก็พบว่า ผักและวัตถุดิบท้องถิ่นมากมายช่างอุดมสมบูรณ์…อันที่จริง ดีกว่าที่ใช้ตามร้านอาหารหรูๆ บางร้านเสียอีก!! เขาประทับใจกับวัตถุดิบและเกิดแรงบันดาลใจอยากที่จะช่วยเหลือเกษตรกรท้องถิ่นไปในตัว
แต่แล้วเสียงผู้คนในหมู่บ้านเริ่มไม่เห็นด้วย เพราะกลัวว่าจะไม่มีลูกค้ามากิน กลายเป็นเงินกองกลางหมู่บ้านจะสูญเปล่า
เมื่อเรื่องนี้ไปถึงหู Hiroshi แทนที่เค้าจะปล่อยวาง กลับไปบริหารร้านเดิม (ที่ประสบความสำเร็จอยู่แล้ว) เขากลับตัดสินใจนำเงินเก็บที่จะใช้สร้างบ้านให้คุณแม่ เอาไปลงทุนกับร้านนี้เต็มรูปแบบ
เนื่องจากร้านอาหารฝรั่งเศสเป็นของใหม่สุดๆ ในย่าน สื่อมวลชนจึงมารุมทำข่าว และคุณ Hiroshi ก็ไม่ลืมที่จะโปรโมทผลิตภัณฑ์จากเกษตรกรท้องถิ่น โดยทานอาหารร้านเค้าเสร็จ ถ้าติดใจก็เดินไปซื้อผลิตภัณฑ์เกษตรกรท้องถิ่นที่สร้างอยู่ข้างๆ ได้เลย
ร้านเค้าอยู่ดี-เกษตรกรอยู่ได้ ลูกหลานบางคนก็ตัดสินใจไม่ย้ายเข้าเมือง แต่สานต่อเกษตรกรรมที่บ้านเพราะมีช่องทาง คุณ Hiroshi ยังได้เปิดโรงเรียนสอนทำอาหารและวิธีเพาะปลูกโดยใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย…ซึ่งทั้งหมด ทำไปเพื่ออยากสร้างประโยชน์แก่ชุมชน ไม่ได้หวังเม็ดเงินแต่อย่างใด
จากเดิมที่เมืองนี้มีประชากรแค่ 2,000 คน พอร้านอาหารมาตั้งและจิตวิญญาณในการสนับสนุนท้องถิ่น ทำให้ต่อมาดึงดูดนักท่องเที่ยวได้กว่า 800,000 คน/ปี
.
.
คุณ Toshio Kawahara เจ้าของร้านไข่ปลา Fukuya (จากเมือง Fukuoka) ใช้เวลาถึง 8 ปี ในการคิดค้นไข่ปลาที่เรารู้จักกันดีในชื่อ “เมนไทโกะ”
ช่วงทศวรรษ 1960s เมนไทโกะของร้านเขาเริ่มเป็นที่นิยม เริ่มมีหลายร้านอื่นๆ มาขอซื้อไปขายต่อ แต่แทนที่จะขาย…เขากลับเลือกที่จะ “สอน” ให้เจ้าอื่นทำเป็นโดยไม่จดลิขสิทธิ์แต่อย่างใด แต่มีข้อแม้หนึ่งคือขอให้คำมั่นสัญญาว่า “ต้องไม่ทำรสชาติให้เหมือนกัน” เด็ดขาด
เหตุผลที่เลือกเส้นทางนี้ เพราะหวังให้เมนไทโกะเป็นที่รู้จักในวงกว้าง ลูกค้าหาซื้อง่าย จนกลายเป็นสินค้าชื่อดังประจำจังหวัด (ซึ่งปัจจุบันก็เป็นจริงแล้ว)
ความหวังของเขาเป็นจริงเลยทีเดียว เพราะสุดท้ายแต่ละร้านก็พัฒนาสูตรเมนไทโกะที่แตกต่างกันเพื่อตอบโจทย์ลูกค้าหลักของตัวเอง ยิ่งปี 1975 ชินคันเซ็นมาถึงฟุคุโอกะ เมนไทโกะยิ่งเป็นที่แพร่หลายต่อคนภูมิภาคอื่นมากขึ้น
Toshio Kawahara ไม่ได้หวัง “ผูกขาด” สินค้านี้ หรือใช้ประวัติศาสตร์อันยาวนาน และการเป็นเจ้าแรกผู้คิดค้นมาเป็นความได้เปรียบ
แต่เขาเป็นคนใจกว้าง เลือกที่จะสร้าง “พันธมิตร” ไม่ได้มองเป็นคู่แข่งที่มาแย่งเค้กส่วนแบ่งการตลาด…หากแต่มาร่วมช่วยกันทำให้ตลาดโตขึ้นในแบบที่ถ้าทำคนเดียวคงไม่สำเร็จแน่ๆ และสุดท้าย “ลูกค้า” ก็ได้รับสินค้าที่ดีที่สุด (แถมหลากหลาย) ด้วยนั่นเอง
ปัจจุบัน ตลาดเมนไทโกะเฉพาะในฟุคุโอกะ มีมูลค่าถึง 300,000 ล้านบาทเลยทีเดียว
Makoto Marketing เหมาะกับใคร?
จากตัวอย่างที่กล่าวมา เราจะเห็นว่าสามารถปรับใช้ได้กับหลากหลายประเภทและขนาดของธุรกิจ
“ไม่ใช่แค่บริษัทเล็ก…บริษัทใหญ่ก็ทำได้เช่นกัน”
เพราะแก่นของมันคือ การตั้งอยู่เพื่อแก้ปัญหาให้ลูกค้า / การปฏิบัติต่อพนักงานและคู่ค้าอย่างเป็นธรรม / การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อมมากกว่าตัวเลขกำไร / แคร์สังคมรอบตัวมากกว่าแค่ตัวองค์กร
แต่หากมองอีกมุมหนึ่ง มันอาจเป็นทางเลือกกลยุทธ์เดียวที่เหลือ กรณีที่คุณเป็น “ปลาเล็ก” ท่ามกลางปลาใหญ่ในอุตสาหกรรมที่สู้ด้วยวิธีเดิมๆ ไม่ได้แล้ว
เช่น สู้ด้วยการขยายสาขาเร็วๆ ไม่ได้แล้ว เพราะไม่มีเงินทุน ก็อาจใช้ Makoto Marketing มาสร้างจุดแข็งให้ตัวเอง
นอกจากนี้ Makoto Marketing ไม่ได้ใช้เงินทุนมากมาย จึงเหมาะกับบริษัทรายเล็กเกิดใหม่ที่ยังไม่มีเงินทุนหนา เป็นวิธีสร้างรากฐานที่ยั่งยืนแก่บริษัท การเติบโตอาจไม่หวือหวานักแต่ชนะใจลูกค้าขาประจำ
ปรับใช้กับองค์กรคุณได้อย่างไร?
อย่างแรกเลยต้องเริ่มจากข้างใน วางวิธีคิดการตลาดแบบดั้งเดิมลงก่อน แล้วเปิด “ใจ” น้อมรับแนวคิด Makoto Marketing ไม่ใช่แค่กับผู้นำองค์กร แต่พนักงานทุกระดับต้องเข้าใจเรื่องนี้ด้วย
แก่นอย่างหนึ่งที่ต้องมีควบคู่กันไปคือ Empathy เอาใจเขามาใส่ใจเรากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย (Stakeholders)
ลองตั้งคำถามเหล่านี้…
- เหตุผลการมีอยู่ของบริษัทคืออะไร?
- สินค้า-บริการเราแก้ปัญหาอะไรให้ลูกค้า?
- จะทำสินค้าอย่างไรให้ ลูกค้า 1 คนซื้อ 100 ครั้ง แทนที่ลูกค้า 100 คนซื้อแค่ 1 ครั้ง
- ทำอย่างไรให้บริษัทคุณ…รวมถึงคนอื่น เติบโตไปด้วยกันได้
- นอกจากลูกค้าแล้ว ทำอย่างไรให้พนักงานบริษัทมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น หรือทำงานอย่างมีความสุขมากขึ้นได้
- นอกจากกำไร…ทำอย่างไรให้บริษัทเป็นที่รักของทุกคน
แม้โลกธุรกิจจะหมุนไปเร็วแค่ไหน พฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยน หรือเทคโนโลยีเข้ามาดิสรัปท์
แต่องค์กรที่มี Makoto Marketing เป็นหัวใจจะยังคงยืนหยัดอยู่ได้อย่างแข็งแกร่ง ซึ่งหลายบริษัทญี่ปุ่นได้พิสูจน์มาแล้วผ่านกาลเวลานับร้อยๆ ปี
Makoto Marketing การตลาดที่มาจากใจ ยั่งยืน และทำให้ทุกคนมีความสุข…
.
.
ทำ “แบบประเมินอาชีพ” จาก CareerVisa เพื่อค้นหาอาชีพที่ใช่ งานที่ชอบ จะได้ทำงานอย่างมีความสุขในทุกๆ วัน…และคุณอาจค้นพบว่าตัวเองเหมาะกับองค์กรที่มี Makoto Marketing เป็นหัวใจหลักในการดำเนินธุรกิจ!! >>> https://www.careervisaassessment.com/five-shades-assessment-th/
ยังไม่รู้จะหางานอะไรดี? รีบเข้าไปที่ >>> www.careervisaassessment.com
ทำ Resume แบบมืออาชีพได้ง่ายๆ ที่ >>> https://myrightcareer.net/
อ้างอิง
- หนังสือ Makoto Marketing โดย ดร.กฤตินี พงษ์ธนเลิศ
- https://www.mckinsey.com/business-functions/sustainability/our-insights/charting-a-path-from-the-shuchu-kiyaku-to-esg-for-japanese-companies
- https://www.theverge.com/2021/5/14/22435573/balmuda-toaster-maker-smartphone-kyocera-release-announcement