ไม่มีใครห้ามเราให้ไม่ลาออกได้หรอก แต่เราควรคิดไตร่ตรองให้ถี่ถ้วนซะก่อน! ค่อยไปยื่นใบลาออก และนี่คือ 10 ข้อคำถามที่คุณควรย้ำถามตัวเองบ่อยๆ ก่อนลาออก
เรายังจะได้เติบโตอะไรอีกจากงานนี้?
คำถามนี้ย้อนกลับไปมอง career path ของเราว่ามาถูกทางแล้วหรือไม่ และมีอนาคตไปต่อได้มากน้อยแค่ไหน เป็นการชวนตัวเองให้มองในระยะยาว ว่าเราสามารถพัฒนาทักษะ ดึงศักยภาพตัวเอง และต่อยอดในระยะยาวในอนาคตได้อย่างไร
ถ้าคำตอบคือ ใช่…งานที่ทำอยู่มันปูพื้นฐานสำคัญต่อวิชาชีพที่เราสามารถเอาไป apply ใช้หากินได้ยาวๆ ก็อาจยังไม่ถึงเวลาลาออก แต่ควรทำพื้นฐานให้ดีให้แน่นก่อน (Get the basic right)
ค้นหาต้นตอของสาเหตุ
หลายคนสับสนระหว่าง “ต้นตอสาเหตุ VS. ความรู้สึกที่เกิดขึ้น”
บางทีคุณอยากลาออกเพราะแค่รู้สึก เบื่อหน่าย-ซ้ำซาก-จำเจ แต่ความรู้สึกนี้ไม่ใช่สาเหตุในตัวมันเอง วิธีคือให้ย้อนถามกลับไปว่าทำไมเราถึงรู้สึกแบบนี้ล่ะ?
เช่น บางทีคุณรู้สึกเบื่อหน่าย-ซ้ำซาก-จำเจ จนอยากลาออกเพราะไม่ได้ทำงานที่ท้าทายใช้ความครีเอทีฟ แต่เป็นงานเชิงรูทีนเหมือนเดิมในทุกๆ วัน ทางออกอาจไม่ใช่การลาออกแต่เป็นการพูดคุยกับหัวหน้าหรือสมาชิกในทีมเพื่อปรับเปลี่ยนเนื้องานความรับผิดชอบแทน!
ประเมินเนื้องานที่จะย้ายไปทำ
วิเคราะห์เนื้องานเวลาลงมือปฏิบัติจริงโดยไม่จำกัดด้วยชื่อตำแหน่ง แต่ลงดีเทลถึงประเภทของธุรกิจ ดูว่าคุณ contribute อะไรได้บ้างในงานใหม่ที่ย้ายไปทำ
เช่น ถ้าคุณเป็น content creator และลาออกไปทำในสายเดิมที่บริษัทใหม่ คุณจะมั่นใจได้ยังไงว่าจะไม่ถูกแทนที่ด้วย ChatGPT เวอร์ชั่นล่าสุด
หรือคุณเก่งทำคอนเทนต์ใน FB & IG มาเฉพาะทางแพลตฟอร์มนี้ แต่งานใหม่กลับต้องโฟกัสที่ TikTok คุณจะเตรียมตัวอย่างไรล่ะทีนี้?
พอถามตัวเองแบบนี้ ก็จะนำเราไปสู่คำถามถัดไป
อะไรคือความแตกต่างของคุณ?
ไม่ว่าจะสายงานเดิมหรือใกล้เคียง หรือแม้แต่กระโดดข้ามสายวิชาชีพ ให้ถามตัวเองเสมอว่าอะไรคือสิ่งที่คุณสร้างให้ “แตกต่าง” จากคนอื่นได้? ไม่มีใครอยากทำอะไรเดิมๆ เพราะความแตกต่างช่วยสร้างจุดยืนที่มีแต้มต่อ
จากตัวอย่างเดิมก่อนหน้า คุณอาจพบว่าตัวเองเป็น content creator ที่แตกต่างจากคนอื่นในแง่ที่ว่า คุณมีองค์ความรู้รอบตัวที่สูง สามารถเชื่อมโยงร้อยเรียงเรื่องราวต่างๆ เข้าหากันจนทำให้คอนเทนต์ออกมามีรสชาติที่กลมกล่อม
เรามีคอนเนคชั่นกับใครบ้าง?
ในการลาออกเพื่อย้ายงานใหม่ก็ไม่ต่างจากการทำธุรกิจ เพราะการรู้จัก “ใคร” สำคัญไม่แพ้หรือมากกว่ารู้จักอะไรด้วยซ้ำ
ให้ใช้เป็น ตัวช่วย (Leverage) มองไปรอบๆ ตัวว่าระหว่างทำงานเราได้สร้างคอนเนคชั่นมีสัมพันธไมตรีกับใครบ้าง คนเหล่านี้วามารถเป็นสะพานเชื่อมไปสู่ฟากฝั่งงานใหม่ที่คุณต้องการได้รวดเร็วและประหยัดแรงกว่าการเฟ้นหาด้วยตัวคุณเองทั้งหมด
หรือบางทีเราแค่เหนื่อย?
ภาวะเหน็ดเหนื่อย หมดอาลัยตายอยาก หมดสภาพ หมดเรี่ยวหมดแรง ไม่มีกะจิตกะใจทำงาน ไฟหมดตั้งแต่เช้าเข้าออฟฟิศ ล้วนเป็นภาวะที่คนทำงานมาระดับหนึ่งประสบพบเจอได้เสมอต่อให้จะเป็น top talents คนเก่งก็ตาม
เมื่อเราเหนื่อย เราก็แค่อยากยอมแพ้และลาออก…จบ แต่บางทีแล้ว หรือว่าคุณไม่ได้อยากลาออกกันแน่ แต่คุณแค่ต้องการการพักผ่อนเต็มที่เพื่อชาร์จตัวเองให้กลับมาใหม่?
คนทำงานสามารถ “เจรจา” กับหัวหน้างานหรือกับลูกน้องในทีมได้ สื่อสารเปิดเผยตรงๆ เลยว่าอยู่ในสภาพ burnout ใกล้จะไม่ไหวแล่ว จำเป็นต้องขอ “ลาพัก” ยาวๆ 1-2 อาทิตย์เต็ม
วิเคราะห์ตลาดแรงงาน
ให้วิเคราะห์ภาพรวมตลาดแรงงานเสียก่อน เพื่อมองหาดีมานท์นายจ้าง ศักยภาพการเติบโต หรือเทรนด์ที่เกิดอยู่และกำลังจะเกิด
ประโยคคลาสสิคอย่าง คนสาย IT ยังไงก็ไม่ตกงาน คนสาย IT ยังไงก็เงินเดือนสูง แต่เมื่อวิเคราะห์ตลาดแรงงานลงลึกขึ้นกลับพบว่า เฉพาะสาย Programmer & Coding เป็นหลักเท่านั้นที่ดีมานท์ยังมากกว่าซัพพลาย จึงทำให้คนสายนี้ลาออกแล้วหางานง่ายและผลักให้เงินเดือนสูง
เราสัมภาษณ์งานเก่งแค่ไหน?
เป็นความจริงอันขมขื่นที่คนเราถูกตัดสินในเวลาสั้นๆ ผ่านการสัมภาษณ์ไม่กี่นาที คนทำงานบางคนมีสกิลที่เก่งมากเวลาลงมือทำงานจริง แต่ดันมาตกม้าตายตอนสัมภาษณ์เพราะทักษะการสื่อสารที่แย่ ไม่มีการแสดงออกถึงความมั่นใจ หรือไร้วาทศิลป์ลีลาในการพูด
การลาออกเพื่อหางานใหม่ไม่ได้มาพร้อมขั้นตอนหางานที่ต้องลงมือลงแรงเท่านั้น แต่มันมาพร้อม “ทักษะการสัมภาษณ์งาน” ที่เราต้องปรับปรุงพัฒนาไปพร้อมกันด้วย!
ลาออกไปแล้วอยู่ได้อีกกี่เดือน?
คุณมี Safety net มากน้อยแค่ไหนเมื่อลาออก…อาจเป็นคำถามที่กว้างเกินไป คำถามที่ชัดเจนเป็นรูปธรรมกว่าและได้รับคำแนะนำจากกูรูด้านการเงินเสมอคือ ถ้าลาออกไปแล้วคุณจะมีเงินใช้ปกติโดยไม่ลดทอนคุณภาพชีวิตลงได้นานถึง ”6 เดือน”…ใช่หรือไม่?
ถ้าคำตอบคือไม่ หรือคุณเริ่มลังเลที่จะตอบ ก็บ่งบอกว่าฐานะทางการเงินของคุณยังไม่แข็งแรงมากพอ การอดทนทำงานต่อไป ดีเลย์การลาออกไปอีกซักหน่อยเพื่อเก็บออมเงินก็เป็นตัวเลือกที่ดี
งานที่ทำอยู่ตอบโจทย์จิตวิญญาณตัวเองไหม?
ความต้องการพื้นฐานของมนุษย์ตามทฤษฎี Maslow’s Hierarchy of Needs ในบริบทการทำงานที่ตอบโจทย์ด้าน “จิตวิญญาณ” จะอยู่ในระดับชั้นบนสุด Self-Actualization หรืออย่างน้อยที่สุดก็ระดับรองลงมาคือ Esteem
มีคนทำงานบางประเภทที่ได้งานที่คนอื่นโหยหา ในองค์กรชั้นนำ เงินเดือนสูง โบนัสดี ออฟฟิศใหม่ โลเคชั่นสะดวก แต่ติดปัญหาเดียวคือ “เนื้องาน” ที่ทำอยู่ดันไม่ตอบโจทย์ด้านจิตใจหรือจิตวิญญาณลึกๆ ภายในใจ
กลายเป็นงานที่แทะกินจิตใจตัวเองวันแล้ววันเล่า (Soul-sucking job) คนกลุ่มนี้เลยจุดที่ต้องการฐานเงินเดือนสูงๆ ไปแล้ว และต้องการงานที่ตอบโจทย์แพชชั่นลึกๆ ในใจตัวเอง ถ้าคุณมีพื้นฐานครบแล้วแต่ยังขาดด้านจิตวิญญาณ การลาออกเพื่อค้นหางานที่มอบให้คุณได้ก็ไม่เสียหาย
ปฏิเสธไม่ได้ว่า การลาออกเป็นเรื่องใหญ่ในชีวิต ไม่ใช่แค่กระทบการงานในออฟฟิศเก่าเท่านั้น แต่หมายถึงเส้นทางสายอาชีพต่อไปในอนาคตของคุณเลย การถามตัวเอง 10 ข้อนี้ก่อนลาออกจึงเป็นสิ่งจำเป็นที่ต้องทำอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้!
อ้างอิง
- https://www.forbes.com/sites/forbescoachescouncil/2022/09/14/three-questions-to-ask-before-quitting-your-job/?sh=2f500a6544f4
- https://www.michaelpage.com.au/advice/career-advice/changing-jobs/questions-to-ask-yourself-before-resigning
- https://www.themuse.com/advice/3-questions-to-ask-yourself-before-quitting-your-perfectly-good-job